สติระลึกรู้ลักษณะธรรมที่ปรากฏ


    ผู้ฟัง การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ให้เราเข้าใจในลักษณะนั้นจริงๆ คือไม่ใช่เราคิดลักษณะนั้น ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ขณะที่เราได้ยินท่านอาจารย์บอกว่าแข็ง เราก็คิดถึงแข็ง ที่เรากระทบตรงไหนก็ได้ก็แข็ง อันนั้นเป็นขั้นคิด ใช่ไหม แต่ขณะที่เราเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมคือก็เป็นลักษณะเป็นแข็ง โดยไม่คิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีแข็ง ถูกต้องไหม คุณธนกรรู้แข็งตรงไหน

    ผู้ฟัง ขณะนี้รู้แข็งตรงขณะที่กำลังจับไมโครโฟน แข็งตรงที่เท้ากระทบกับที่กาย

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าในขณะที่เราศึกษา ก็คือคนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่มีแข็งตรงหนึ่ง ตรงใดปรากฎ ขณะนั้นมีชื่อหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะรู้ในลักษณะนั้น เพราะลักษณะนั้นกำลังปรากฎ และที่ฟังมาทั้งหมด ก็เข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้แข็งด้วย แข็งขณะนั้นจึงปรากฎ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของแข็ง หรือว่าจะรู้ลักษณะของสภาพที่รู้แข็ง กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น นั่นคือสติสัมปชัญญะ ซึ่งเมื่อลักษณะนั้นหมด สภาพธรรมอื่นปรากฎ ไม่เข้าใจอีกแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่าขณะที่สติเกิด จะต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าเพียงเข้าใจนิดหนึ่ง แล้วก็ต่อจากนั้นก็ไม่เข้าใจอีกแล้ว ทางตา ทางหู ทางเรื่องราวที่คิดนึก เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจว่าสติสัมปชัญญะ เมื่อเกิดก็จะสามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะคลาย นี่คือสิ่งที่เป็นปกติ แล้วก็ยาก เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดบ่อย แต่ถ้าเกิดก็คือเริ่มมีความเข้าใจลักษณะนั้น ซึ่งขณะนั้นสิ่งอื่นไม่ปรากฎเลย ขณะที่แข็งปรากฎอย่างอื่นจะปรากฏรวมอยู่ในที่นั้นด้วยไม่ได้เลย แต่การที่จะรู้อย่างนั้น ต้องเป็นขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ แต่ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด การเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก จิตที่เกิดดับก็เร็วมาก เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่มีสิ่งที่ปรากฎทางกาย ก็มีสิ่งอื่นปรากฎทางตา แต่ก็สามารถจะรู้ลักษณะที่กำลังรู้ตรงแข็ง ว่าเป็นชั่วหนึ่งขณะ เป็นชั่วขณะที่กำลังมีแข็งปรากฎ ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นปรากฎ นี่คือการที่จะเริ่มแยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปนกันอย่างรวดเร็ว เป็นทีละลักษณะ จนกว่าจะทั่ว

    ผู้ฟัง ขณะที่มีสภาพธรรมปรากฎ ก็เป็นขั้นคิดไตร่ตรอง แล้วก็มีลักษณะสลับ

    ท่านอาจารย์ สลับกับสติสัมปชัญญะที่เกิดได้ เพราะว่าขณะนี้ก็มีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดรู้ตรงแข็งได้ ธรรมดาๆ และหลังจากนั้นก็คิดเรื่องราวต่างๆ แต่ก็จะรู้ความต่าง ขณะที่รู้ความต่างนั่นคือ ปัญญา ที่รู้ว่าที่ต่างเพราะเราเคยกระทบสัมผัสแข็งมาบ่อยๆ ตั้งแต่เช้า แต่ว่าไม่ได้รู้ตรงแข็ง เหมือนอย่างขณะที่สติเกิดแล้วก็รู้ลักษณะนั้น ด้วยความเข้าใจในลักษณะนั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นแต่ละลักษณะในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง และความเข้าใจของหนู ก็คิดว่าคงรวดเร็วมาก พอรู้ลักษณะที่แข็งเป็นลักษณะจริงๆ แล้วก็คิดจะต้องตามมาอย่างยืดยาว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เห็นความต่างของความคิด กับขณะที่กำลังรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฎจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะอื่นๆ ที่ปรากฎทางตา ทางหู ทางจมูก ในขั้นพื้นฐานก็คงคิดไตร่ตรองไปลักษณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจในขณะที่กำลังเห็น ฟังเรื่องเห็นจริง แล้วก็มีสภาพเห็นด้วย และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่ฟังด้วย เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนั้นก็คือสติปัฏฐาน ชั่วขณะที่กำลังเข้าใจตรงลักษณะนั้น ทีละเล็ก ทีละน้อย เบาสบายหรือว่าหนักใจ

    ผู้ฟัง รู้สึกค่อยๆ เบาลง แต่ก็มีความหนักๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าหนักเมื่อไหร่ก็คือโลภะเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ก็มักจะฟังท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าหนักเมื่อไรก็ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็เลยชอบตรงที่ท่านอาจารย์จะพูดถึงว่า ความมีตัวตนของเรา ก็จะความติดข้อง ทำให้เกิดโลภะ มีอกุศลต่างๆ เกิดขึ้น เมื่อไรที่รู้สึกไม่สบาย ก็นึกได้ว่าตัวตนมาอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขั้นคิด จนกว่าตรงลักษณะของสภาพธรรม แต่ละลักษณะ ต้องอดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง


    หมายเลข 2798
    16 ธ.ค. 2567