ทำไมเจตสิกถึงไม่เป็นใหญ่แทนจิต


    ผู้ฟัง ยังมีข้อสงสัยเรื่องจิต ว่าทำไมจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะในขณะที่จิตเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกทำให้จิตแตกต่างกันเป็นกุศล อกุศล แสดงว่าเจตสิกเป็นตัวนำให้จิตแตกต่างกันเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นใหญ่แทนจิต ขอคำอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะได้รับฟังหลายๆ อย่างประกอบกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจขึ้น ขณะนี้เห็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าตอบเป็นอภิธรรม ก็เห็นสีสรร วรรณะ เห็นเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นพูดถึงเจตสิกเลย และพูดถึงจิตที่เห็น เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฎ แต่ถ้าจะพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียว อินทริย คือความเป็นใหญ่ของสภาพธรรม ทั้งหมดมี ๒๒ ประเภท ที่เป็นนามธรรมก็มี ที่เป็นรูปธรรมก็มี ขอยกตัวอย่าง รูป ซึ่งตามธรรมดา เราก็รู้ว่าจะต้องมี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมหาภูตรูป และรูปอื่นอีก ๒๔ ประเภทนั้น ก็เกิดกับมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้ว รูปอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย

    แต่ในขณะที่เห็น ไม่มีใครพูดถึงมหาภูตรูปเลย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แม้ว่ามี ถ้าไม่มี รูปอื่นจะมีไม่ได้ แต่ขณะเห็นอะไรเป็นใหญ่ ถ้าไม่มีจักขุปสาทะ เป็นจักขุนทรีย์ ที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฎทางตา จิตเห็นในขณะนี้เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะพูดถึงสภาพความเป็นใหญ่ ก็จะพูดแต่ละอย่าง ตามความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น เช่นในขณะนี้ ทุกคนก็บอกว่าเห็น พูดถึงจิต ไม่ได้พูดถึงเจตสิก ไม่ได้พูดถึงผัสสะ ไม่ได้พูดถึงเจตนา ไม่ได้พูดถึงชีวิตินทริย มนสิการเจตสิก อะไรเลย ทำให้สามารถที่จะเข้าใจความเป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฎ ว่าจิตต้องเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง ทั้งๆ ที่เจตสิกก็รู้ แต่รู้โดยฐานะที่ต่างกับจิต เช่น ผัสสเจตสิก ก็เป็นสภาพรู้ แต่รู้โดยกระทบจึงรู้ ในขณะที่รู้นั้น เมื่อกระทบกับอารมณ์ ก็รู้อารมณ์โดยการกระทบ หรือสัญญาก็รู้อารมณ์โดยจำอารมณ์ แต่ว่าการที่จะรู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเรื่องราวต่างๆ ก็ตาม ขณะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของจิตประการเดียว คือสภาพที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งอารมณ์

    เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวถึงนามธรรมอีกนัยยะหนึ่ง คือนามธรรม ๕๓ ได้แก่ เจตสิก ๕๒ ประเภท และ จิต ๑ รวมจิตทุกประเภท ก็คือเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งอารมณ์นั่นเอง แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมอื่นเป็นใหญ่ก็มี เช่น จักขุปสาท เป็นจักขุนทรีย์ ในขณะเห็น แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยิน แต่ว่าเวลาที่มีสภาพธรรมที่ได้ยินเกิดขึ้น โสตปสาทเป็นใหญ่ เพราะว่าถ้าขาดโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์หรืออินทริย ก็จะมีความเป็นใหญ่ ในสภาพของธรรมนั้นๆ เช่น เวทนา ความรู้สึก ก็เป็นใหญ่ได้ ดีใจ ขณะนั้นอะไรรู้สึก แช่มชื่น โสมนัส ปลาบปลี้ม เป็นสุข


    หมายเลข 2799
    16 ธ.ค. 2567