นามธรรม ๕๓ กับสภาพที่เป็นอินทรีย์
ท่านอาจารย์ ในการที่จะรู้ว่าขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเรื่องราวต่างๆ ก็ตาม ขณะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของจิตประการเดียว คือสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวถึงนามธรรมอีกนัยยะหนึ่ง คือนามธรรม ๕๓ ได้แก่ เจตสิก ๕๒ ประเภท และจิต ๑ รวมจิตทุกประเภท ก็คือเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ นั่นเอง แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมอื่นเป็นใหญ่ก็มี เช่นจักขุปสาทะ เป็นจักขุนทรีย์ ในขณะเห็น แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยิน ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่มีสภาพธรรมที่ได้ยินเกิดขึ้น โสตปสาทะเป็นใหญ่ เพราะว่าถ้าขาดโสตปสาทะ จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์หรืออินทรียะ ก็จะมีความเป็นใหญ่ในสภาพของธรรมนั้นๆ เช่น เวทนา ความรู้สึกก็เป็นใหญ่ได้ ดีใจ ขณะนั้นอะไรรู้สึก แช่มชื่น โสมนัส ปลาบปลื้ม เป็นสุข
ผู้ฟัง อาจจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม พวกเราอยู่ทางโลก คำว่าเป็นใหญ่ คือมีอำนาจ มีบารมี สามารถบันดาลให้ลายเซ็นอะไรได้ เเต่เห็นก็แค่เห็นเฉยๆ
ท่านอาจารย์ ขาดสิ่งนั้นไม่ได้เลย ถ้าขาดสิ่งนั้น อะไรก็มีไม่ได้ ปรากฎไม่ได้ ไม่มีอะไรปรากฏเลย ทั้งโลกหมดเลย อะไรก็ไม่มี แล้วก็ยังเป็นใหญ่ในเจตสิกที่เกิดร่วมกันด้วย เพราะว่าเป็นใหญ่โดยฐานะที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ อะไรๆ ก็ปรากฎไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ในทางตรงกันข้ามก็เหมือนกัน ถ้าขาดเจตสิก จิตก็มีไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่เจตสิกทั้งหมดไม่ได้เป็นอินทรียะทั้งหมด เช่นเวทนา เป็นอินทรียเจตสิก สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ทั้งหมดเป็นใหญ่
ผู้ฟัง ผมเข้าใจความเป็นใหญ่ในทางโลก คือมีอำนาจ บังคับให้ทำอะไรได้ บังคับให้เราทำชั่วได้ บังคับให้เราทำดีได้ เป็นต้น
ท่านอาจารย์ แต่พอถึงธรรมแล้ว เป็นอนัตตา เป็นลักษณะ เป็นกิจหน้าที่การงานเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สติเป็นใหญ่ ไหม เป็นสตินทรีย์ เจตนาอยากให้เข้าใจมากๆ
คุณอุไรวรรณ การฟังธรรม โดยเฉพาะชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สะสมการฟัง สะสมความเข้าใจในขั้นการฟังไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราก็ค่อยๆ มาถึงเรื่องของจิต ก็จะมีเจตสิกร่วมด้วย แล้วก็มีรูปร่วมด้วย ที่เราไม่ปฏิเสธเรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่เรากำลังสนทนากันถึงพื้นฐานของจิต
ผู้ฟัง ทำไมจิต ๗ ขณะ ถึงมีตทาลัมพนะอยู่ท้าย ๒ ขณะ ในขณะที่จิต ขณะอื่นๆ มีเพียง ๑ ขณะ
ท่านอาจารย์ อารมณ์ยังเหลืออยู่ ๒ ขณะ เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ เท่านั้นเอง ความสำคัญอยู่ที่ชวนะ เพราะเหตุว่าวิบากต้องเกิดแน่นอน แล้วก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ตัวชวนะ ถ้าเป็นอกุศลก็จะติดข้อง พอใจ หรือขุ่นเคือง ในอารมณ์ที่ปรากฎ ซึ่งสะสมสืบต่อเป็นอัธยาศัย
คุณอุไรวรรณ เพราะฉะนั้น ชวนจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะสะสมทั้งกุศล และอกุศล ขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่นี้ ถ้าหากว่าใครเริ่มเข้าใจ ตรงนี้จะเป็นการสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใครฟังแล้วไม่เข้าใจเลย ก็จะสะสมความไม่เข้าใจต่อไปอีก