อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติสัมปชัญญะ
ท่านอาจารย์ ความเข้าใจของเราสำคัญที่สุด เราเข้าใจอะไร ระดับไหน นั่นเป็นเพียงชื่อ อย่างคำว่า “กาย” คืออะไร อยู่ที่ไหน “เวทนา” ถ้าเราไม่ศึกษาเมื่อกี้นี้ว่า เป็นเจตสิก และเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เวทนาต้องเกิดกับจิตเสมอ ที่เวทนาจะไม่เกิด ไม่มีเลย ก็พอรู้จักเวทนา กายก็พอรู้จัก กายอยู่ไหน ก็มีคนแตะที่ตัว กาย เวทนา จิต พอรู้จักแล้วใช่ไหม ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ก็คือสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าปัญญาจะรู้ ก็รู้สิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งเดี๋ยวนี้ที่มี พอเริ่มจะรู้ว่า เพียงฟังเข้าใจ หรือสามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กล่าวถึงได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เต็มไปด้วยความต้องการ หรือตัวเราที่จะทำสติปัฏฐาน หรือเดี๋ยวสติปัฏฐานจะเกิด นั่นไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะลืมความหมายของคำว่า “อนัตตา” ไม่ใช่เรา จะบังคับให้สติเกิดได้ไหมคะ ถ้าบังคับได้ บังคับเลย ไม่ให้ขาดเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับจะไม่ให้ได้ยินได้ไหม ถ้ามีเสียงมากระทบหู ทำอย่างไรๆ ได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีเสียงจะกระทบหู แล้วจะไปทำให้ได้ยินเกิด เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมยังไม่พอ ก็ไม่มีปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิด เพราะสติปัฏฐานจะเกิด ต้องมีปัญญามาก่อน ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ สติปัฏฐานเกิดไม่ได้เลย มีกายก็จริง จะระลึกอย่างไร ถ้าได้รับคำบอกเล่าให้ระลึก ก็ได้ แต่ไม่มีปัญญา ก็รู้ว่ากายอยู่ตรงนี้ พอกระทบสัมผัสก็แข็ง แต่ก็ไม่มีปัญญา เพราะไม่รู้ว่าอะไร แล้วจะละกิเลสอะไรได้จากการเพียงกระทบกายแล้วมีสิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างปรากฏ ก็คงเป็นความไม่รู้
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นเลย แต่ให้เข้าใจเรื่องของธรรม เพราะสติปัฏฐานหมายถึงสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด สติสามารถรู้โดยระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย
นี่คือความหมายของสติปัฏฐาน เป็นสติสัมปชัญญะที่เกิดรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ โดยที่สติเกิดระลึกลักษณะนั้น แต่ถ้าสติยังไม่เกิด ยังไม่ได้ระลึกลักษณะนั้น จะมีแต่เราต้องการที่ให้สติเกิด ให้สติรู้ แต่ความจริงก็ไม่ใช่สติ เพราะเหตุว่าถ้าสติจะเกิดมีเหตุปัจจัย คือ สัญญา ความจำที่มั่นคง สัญญาเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่าคะ เป็น เป็นเจตสิกปรมัตถ์ สัญญาจำทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาในห้องนี้ มีสัญญาใหม่ ซึ่งไม่ใช่สัญญาเก่า คือสัญญาเก่าเป็นสัญญาเรื่องเรา เรื่องตัวตน เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สัญญาใหม่ คือเริ่มจำว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม กำลังปรากฏด้วย และมีหนทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่หนทางนี้ต้องเกิดเพราะมีปัญญา ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีก่อน จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ว่าเราจะเรียกว่า ปรมัตถธรรม เรียกว่า สังขารธรรม เรียกว่า จิตหรือเจตสิก รูป ก็เพื่อรู้ความจริงว่า เป็นธรรม แต่ที่แสดงโดยนัยต่างๆ ก็เพราะเหตุว่าธรรมมีหลากหลาย เมื่อวานนี้ทั้งหมดก็เป็นธรรม วันนี้ทุกอย่างทั้งหมดก็เป็นธรรม ถ้าเรามีความทรงจำที่มั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม และไม่ใช่เพียงจำชื่อ จำประโยคว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ต้องถึงกระดูก หรือจรดกระดูกถึงความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม เราระลึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เรากำลังฟังเรื่องธรรมจริงๆ แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม จนกว่าฟังแล้วฟังอีกๆ ระลึกว่า เป็นธรรมจริงๆ เมื่อไร เมื่อนั้นคือสติเริ่มระลึกที่ลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ทุกวัน