ถ้ามีโลภะแล้วไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ


    ผู้ฟัง ในเรื่องของโลภะ พอดีอ่านเรื่องความหมายแล้วยกตัวเอย่างเรื่องการอาบน้ำ รับประทานอาหาร ก็ถือว่าเป็นโลภะเหมือนกัน ก็เลยสงสัยว่า ถ้าเป็นโลภะแล้ว เราไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้หรือ เพราะว่าในชีวิตประจำวันเราก็ต้องอาบน้ำ รับประทานอาหาร คิดอย่างนี้ค่ะในตอนแรก

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ได้ยินว่า ถือว่าเป็นโลภะ ใช่ไหมคะ แล้วทำไมเราจะถือกันด้วยความคิดของเราเอง หรือสภาพนั้นเป็นโลภะจริงๆ ในพระพุทธศาสนาไม่มีการถือตามใจชอบว่า อยากให้เรียกอันนี้ต้องเป็นโลภะ หรืออันนั้นต้องเป็นกุศล แต่ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องไตร่ตรอง ไม่ใช่ถือความเห็นของเรา อย่างบางคนบอกว่า เขาไม่มีโลภะเลย ไม่เห็นอยากได้อะไรของใครเลย จะว่าเขามีโลภะได้อย่างไร เขาถือว่าเขาไม่มีโลภะ นั่นคือความเห็นส่วนตัว แต่ว่าตามความเป็นจริงธรรมเป็นจริงอย่างไร ใครจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาคือสามารถเข้าใจถูกต้องจริงๆ และเป็นผู้ตรง ถ้าพูดถึงธรรม จะมีชื่อสุจินต์ จะมีชื่อสุภีร์ไหมคะ ไม่มี เป็นธรรม โลภะเกิดขึ้นกับเด็ก กับผู้ใหญ่ กับผู้หญิง ผู้ชาย กับขอทาน กับพระราชามหากษัตริย์อย่างไรก็ตามแต่ โลภะทำหน้าที่ของโลภะ จะทำหน้าที่อื่นไม่ได้ หน้าที่ของโลภะก็คือติดข้องต้องการ แต่ว่าความติดข้องต้องการไม่ได้ใหญ่โตมหาศาล จนทำให้รู้สึกว่า เราอยากจะได้ถึงจะเป็นโลภะ แต่เพียงแค่เห็น เราติดในสิ่งที่เห็น และในการเห็นไหม เรียกว่า เราเกิดมาเราอยากเห็นหรือเปล่า หรือไม่อยากเห็น เวลาเกิดมาแล้วอยากได้ยินหรือเปล่า หรือไม่อยากได้ยิน ถ้าตากำลังใกล้จะบอด จะเสีย เราต้องไปหาหมอใช่ไหมคะ คือรักษาเพื่อให้เห็นต่อไป

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เป็นลักษณะของสภาพที่ต้องการมากๆ จึงจะเรียกว่าโลภะ ไฟนิดเดียวก็ร้อน กองใหญ่ๆ ก็ร้อน หรือกลิ่นเหม็น แม้แต่เพียงส่วนอณูเล็กที่สุดก็เหม็น เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นลักษณะของกลิ่นที่เหม็นมาก ฉันใด ลักษณะของโลภะก็ฉันนั้น คือแม้แต่เพียงความติดข้องอย่างบางที่สุดก็เป็นโลภะ ไม่ทราบเมื่อกี้มีใครไปล้างมือบ้าง คงยังไม่ล้าง ยังไม่ได้ออกไปข้างนอก แต่เมื่อกลับเข้าบ้านเราก็ล้างมือ ถูสบู่ มือก็ดูสะอาดดี ไม่เห็นเปื้อนน้ำหมึก แต่ยังคงมีสีดำๆ ออกมา หรือเสื้อผ้าที่เราใส่ก็ต้องซัก อะไรออกมา สิ่งที่สกปรก น้ำก็ดำ ฉันใด เราจะมีอกุศลประเภทจางที่สุดที่ไม่สามารถจะรู้ได้เลย เช่น อาสวะ อีกคำหนึ่งของพระอรหันต์ที่พระไตรปิฎกใช้ก็คือ ขีณาสวะ ขีณ แปลว่า ดับ หมดสิ้น อาสวะ ก็คือกิเลสอย่างบาง หรืออย่างจาง ก็ไม่มีเลยสำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ ไม่เกิด ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่พระอรหันต์ เขาก็คิดว่าเขาไม่มี ผู้ทำสมถภาวนาอย่างถูกต้องในครั้งพุทธกาล จิตสงบมาก สามารถบรรลุความสงบของจิตที่ใช้คำว่า ฌานจิตขั้นต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน เห็นได้เลยว่า ความสงบเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถเห็นความต่างระหว่างฌานขั้นต้นกับฌานขั้นที่ ๒ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สงบอย่างที่เราเข้าใจว่า เรากำลังจดจ้องที่หนึ่งที่ใดแล้วสงบ นั่นไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ไม่ใช่ฌานจิต เราก็ยังหลงคิดว่า นั่นสงบมากแล้ว แต่ถ้าในระดับนั้น ผู้มีความสงบบ่อยๆ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ท่านเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองหมดกิเลส


    หมายเลข 2805
    28 ก.ค. 2567