อาสัณณกรรม กรรมที่ทำใกล้จะจุติ


    ทุกท่านจะต้องจากโลกนี้ไป เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะลืมเลย ช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลกรรมเป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำมากๆ บ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า เมื่อถึงเวลาใกล้จะจุติที่จะจากโลกนี้ กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมต่อไปที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิ คือ อาสันนกรรม

    ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถาอุปมาว่า

    เหมือนกับโคที่อยู่ในคอก โคที่อยู่ใกล้ประตู ถึงแม้ว่าจะเป็นโคที่ไม่มีกำลัง หรือว่าเป็นโคชรา แต่ว่าเมื่ออยู่ใกล้ประตูก็ย่อมออกไปก่อนโคอื่นๆ ซึ่งมีกำลัง หรือที่อยู่ในคอกนั้นทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้าครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ทำใกล้จะจุติย่อมเป็นอาสันน

    กรรม ทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิต่อไป

    ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถา ได้กล่าวถึงเรื่องคนรักษาประตูชาวทมิฬคนหนึ่ง ชื่อ มธุอังคณะ เขาออกไปตกปลาแต่เช้าตรู่ แล้วฆ่าปลา แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน แลกเอาข้าวสารด้วยปลาส่วนหนึ่ง เอานมส้มด้วยปลาส่วนหนึ่ง และปรุงปลาส่วนหนึ่ง โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตเป็นเวลา ๕๐ ปี จนถึงในขณะที่แก่ลง ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นได้

    ขณะนั้นพระจุฬบิณฑปาติกติสสะเถระผู้อยู่ในคีรีวิหารคิดว่า สัตว์นี้เมื่อเราเห็นอยู่ จงอย่าพินาศ ท่านได้ไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของคนรักษาประตูนั้น ซึ่งภรรยาของคนรักษาประตูนั้นก็ได้บอกสามีว่า “นาย พระเถระมาแล้ว” คนรักษาประตูนั้นก็กล่าวว่า “เราไม่เคยไปสู่สำนักของพระเถระเป็นเวลา ๕๐ ปี เพราะคุณอะไรของเราพระเถระจักมา ท่านทั้งหลายจงกล่าวกับพระเถระนั้นเถิดว่า นิมนต์ไปเถิด” ดังนี้

    ก็เป็นธรรมดาที่คนรักษาประตูจะแปลกใจ เพราะว่าไม่เคยไปวัดเลย แต่ทำไมพระจุฬบิณฑปาติกติสสะเถระจึงได้มาถึงบ้านของท่าน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกิจ ไม่มีธุระที่จะเกี่ยวข้องด้วย คนรักษาประตูก็ได้บอกภรรยาให้นิมนต์ท่านไปเสีย

    ภรรยานั้นกล่าวแล้วว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด” ดังนี้

    แม้ว่าท่านจะไปถึงบ้านแล้ว ก็ยังไม่คิดว่าท่านจะทำประโยชน์อะไรให้ เพราะฉะนั้นก็นิมนต์ท่านไปโปรดสัตว์ข้างหน้า

    พระเถระก็ได้ถามหญิงนั้นว่า “ความเป็นไปแห่งสรีระของอุบาสกเป็นอย่างไร”

    หมายความถึงสุขสบายดี หรือว่าป่วยไข้ขนาดไหน

    หญิงนั้นก็ได้กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาสกเป็นคนมีกำลังอันโทษประทุษร้ายแล้ว”

    อ่อนกำลังลงไปจนไม่สามารถจะลุกขึ้น

    เพราะฉะนั้นพระเถระก็ได้เข้าไปสู่เรือน ทำให้เขาเกิดสติขึ้น แล้วกล่าวว่า “ท่านจะรับศีลไหม” ซึ่งอุบาสกนั้นก็กล่าวว่า “ขอรับ ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้เถิด” ดังนี้

    พระเถระก็ได้ให้สรณะ ๓ แล้วเริ่มที่จะให้ศีล ๕ แก่เขา ลิ้นของเขาตกไปในกาลแห่งคำว่า “ปัญจสีลานิ” พระเถระก็ได้ออกไป ด้วยคิดว่าคุณมีประมาณเท่านี้จะสมควร

    หมายความว่า เพียงรับศีลได้เท่านี้ก็เป็นประโยชน์พอแล้วสำหรับอุบาสกผู้นี้

    อุบาสกนั้นก็สิ้นชีวิต และเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งในขณะที่เกิด เขาก็ใคร่ครวญว่า การที่เขาได้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นเป็นผลกรรมอะไร เมื่อได้ทราบเหตุที่ตนได้สมบัติแล้วเพราะอาศัยพระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้พระเถระแล้ว ได้ยืนที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ซึ่งเมื่อพระเถระกล่าวว่า “ใครนั่น”

    เทพบุตรนั้นก็กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาประตูของทมิฬ”

    พระเถระก็ถามว่า “ท่านเกิดที่ไหน”

    เทพบุตรนั้นก็ตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าบังเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราช ถ้าว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ให้ศีล ๕ ไซร้ ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้บังเกิดแล้วในเทวโลกเบื้องบน ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร” ดังนี้

    พระเถระกล่าวว่า “ดูก่อนบุตรน้อย เจ้าไม่อาจจะถือเอา”

    เทพบุตรนั้นก็ไหว้พระเถระแล้วไปสู่เทวโลกนั่นเอง

    นี่เป็นเรื่องของอาสันนกรรม


    หมายเลข 2822
    25 พ.ย. 2567