ปิสุณาวาจา กับ ความเป็นผู้ตรง


    ท่านอาจารย์ แต่จำเป็นต้องรู้เพื่อประโยชน์ที่จะไม่เกิดอกุศลจิต ที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นเป็นปิสุณาวาจาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นครับ เพราะว่าผมไม่ได้คิดว่า เขาจะได้มีความพอใจในตัวผมอย่างยิ่ง และเขาจะได้โกรธคนอื่น ไม่ได้คิดอย่างนั้นครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีความขุ่นใจ มีความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มี สมมติว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ สมมติค่ะ แต่จิตใจไม่ใช่เราจะสมมติ แต่เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกตรง ความเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และกุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดดับสลับกันรวดเร็วมากทีเดียว ถ้าในขณะที่คิดว่าเพื่อประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่มีความขุ่นเคืองใจในขณะนั้นด้วย ขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง อกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งทุกท่านต้องเป็นผู้ตรง ด้วยเหตุนี้บางคนก็จะสงสัยว่า ทำไมเป็นพระโสดาบันแล้วยังมี ปิสุณาวาจา หรือว่าสัมผัปปลาปวาจา ใช่ไหมคะ แต่พระโสดาบันก็ยังมีโลภะที่จะสนุกสนานรื่นเริง พูดเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของธรรม เรื่องใดซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เรื่องนั้นเป็นสัมผัปปลาปวาจา แต่เมื่อพระโสดาบันบุคคลก็ยังมีโลภะ เพราะฉะนั้นสัมผัปปลาปวาจาก็ยังต้องมี หรือว่าในชีวิตที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคนทั้งหลาย ทุกคนมีการสะสมมาต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย พระโสดาบันท่านก็อยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกัน ท่านจะไม่พูดกับคนนั้น ท่านจะไม่คบหาสมาคมกับบุคคลนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีการรู้จักเกี่ยวข้องกัน ใช่ไหมคะ แต่ถ้ามีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้น ที่จะทำให้โลภมูลจิตเกิด แม้พระโสดาบัน โลภมูลจิตของท่านก็ต้องเกิด มีเรื่องอะไรที่โทสมูลจิตจะเกิด แม้พระโสดาบัน โทสมูลจิตของท่านก็เกิด แล้วเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งดูเสมือนเป็นปิสุณาวาจา

    ผู้ฟัง ดูเสมือน ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ดูเสมือน และก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็น ขณะใดไม่เป็น ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ นอกจากตัวเอง

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อสมมติว่า ได้ยินว่าเขากล่าวผิด แต่ไม่มีความโกรธเขา แต่เกรงว่าผู้ที่ได้ยินได้ฟังอื่นจะเข้าใจผิด ก็แอบบอกเขา โดยที่ไม่มีความขุ่นใจในคนอื่น จะชื่อว่า ปิสุณาวาจาหรือไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล แล้วอกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะจะต้องไวพอที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับสลับอย่างเร็วมาก และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง สมมติรู้ว่าไม่พอใจเขาแล้ว แอบบอกทีหลัง ชื่อว่า ปิสุณาวาจา ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จะทำอะไรก็ตามแต่ เป็นผู้ตรง แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพราะกุศลจิต หรือเป็นเพราะอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ชื่อว่า ปิสุณาวาจาหรือไม่ก็ได้ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ การกระทำทุกอย่างมองดูแล้ว ชาวโลกคิดอย่างหนึ่ง แต่สภาพธรรมจริงๆ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเอง จึงจะรู้ได้ อย่างทาน การให้ ทุกคนก็รู้ว่า ให้สิ่งซึ่งบุคคลอื่นพอใจที่จะรับ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ เป็นกุศล ใช่ไหมคะ โดยทั่วไป เป็นทุกกรณีหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ชาวโลกถือเป็นทาน ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ตรงค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วสัมผัปปลาป คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกชนิดเลยใช่ไหม หมายความว่า ถ้าไม่พูดถึงเรื่องทาน ศีล การอบรมเจริญภาวนา คำพูดอื่นทั้งหมดเป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านผู้ฟังไปหาผู้หนึ่งผู้ใด แล้วก็ถามถึงทุกข์สุขของเขา เป็นสัมผัปปลาปหรือเปล่า แม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร หรือแม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสปราศรัยกับผู้ที่ไปเฝ้าถึงทุกข์สุข เป็นสัมผัปปลาปวาจาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้น ไม่ใช่การที่จะไต่ถามถึงทุกข์สุขก็จะต้องเป็นสัมผัปปลาปวาจา

    สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ คำพูดที่เป็นประโยชน์ ย่อมไม่ใช่สัมผัปปลาปวาจา


    หมายเลข 2824
    2 ส.ค. 2567