สติระลึกรู้เวทนาเนื่องด้วยลมหายใจ


    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเจริญอานาปานสติอยู่นั้น อาจารย์ได้อธิบายว่า ขณะที่กำลังเจริญอานาปาสติ เวทนาย่อมเกิดได้ ขณะที่สติไปรู้เวทนาก็ดี หรือไปรู้ที่จิตก็ดี แต่ทั้งนี้ยังเนื่องจากลมหายใจอยู่ จะเรียกว่าขณะนั้นสติขาดจากอานาปาสติไหม

    ท่านอาจารย์ เวทนาเนื่องจากลมหายใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอานาปานบรรพ ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากการเห็น ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากอย่างอื่น แต่ว่าเป็นเวทนาที่เกิดพร้อมกับขณะที่หายใจออก หายใจเข้า เพราะฉะนั้น สติเร็วทันที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่รู้แต่เฉพาะรูป นามก็รู้ด้วย

    สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต ไม่เกิดกับอโสภณจิต อกุศลจิตเกิดไม่มีสติเกิดร่วมด้วย วันหนึ่งๆ มีอกุศลจิตเกิดใช่ไหม ในขณะที่เป็นอกุศลไม่มีสติเกิดร่วมด้วย จึงได้เป็นอกุศล ในขณะใดไม่ใช่อกุศลจิต เป็นโสภณจิต ในขณะนี้มีสติเกิดร่วมด้วย ตามประเภทของสติ เพราะสติบางประเภทก็เป็นวิบาก บางประเภทก็เป็นกิริยา บางประเภทก็เป็นกุศล แล้วแต่ประเภทของบุคคล

    ในพระวินัยปิฏก วิภังคปกรณ์

    กายนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    เวทนานั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    จิตนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    นี้เรียกว่า โลก ธรรมเหล่านี้เองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่าโลก

    ในขณะที่ระลึกที่กาย กายนั้นชื่อว่า โลก หรือแม้อุปาทานขันธ์ ๕ อื่นๆ ที่เกิดปรากฏ และสติระลึกรู้อันเนื่องจากกายนั้น ก็ชื่อว่า โลก ที่ว่าละอภิชฌา และโทมนัสในโลก คือ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ที่เกิดปรากฏ

    ข้อความที่ว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก เป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก ก็เป็นเวทนานุปัสสนาด้วย ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา

    เพราะเหตุว่าในปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย มีสุขเวทนาเกิดร่วมกับปีติ เพราะฉะนั้น เวลาที่ลักษณะของความดีใจเกิดขึ้น มีปีติเป็นประธานในขณะนั้นก็ชื่อว่า จักรู้แจ้งปีติ หายใจออก จักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    พอถึงย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เพราะไม่ใช่ข้อความว่า เราจักรู้แจ้งจิต หายใจออก แต่เป็นพยัญชนะว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    จิตสังขาร ได้แก่ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ปรุงแต่งให้เกิดจิตประเภทต่างๆ เวทนาก็เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น การที่จิตสงบเพราะเจริญอานาปานสติ ไม่ใช่เพียงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แต่จตุตถฌานก็มีเวทนาที่เป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น พยัญชนะที่ว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจออก หายใจเข้า ก็หมายความถึงทั้ง ๔ ฌาน เวทนาที่เกิดร่วมด้วยทั้ง ๔ ฌาน หรือว่า โดยนัยของปฐมฌาน ทุติยฌานนั้น ก็รู้แจ้งปีติ ตติยฌานก็เป็นสุข จิตสังขารก็เป็นอุเบกขา เป็นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น

    ข้อความต่อไป เป็นการรู้แจ้งจิต หายใจออก หายใจเข้า

    เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก โดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า โดยความคลายกำหนัด หายใจออก โดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า

    นี่เป็นสติกับปัญญาที่รู้แจ้งความไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า เมื่อรู้แจ้งความไม่เที่ยงก็ย่อมคลายความพอใจ เป็นลำดับไป


    หมายเลข 2835
    31 ก.ค. 2567