ทำไมเวลาจับไมค์ถึงเป็นโมหะ


    อ.กุลวิไล มีผู้ฟังแนวทางวันพฤหัสแล้วสงสัยว่า ทำไมเวลาจับไมโครโฟนถึงเป็นโมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่ลืมไม่ได้เลย คือ เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อย่างรวดเร็ว เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ยากที่จะรู้ได้ เราอาจจะอ่านตำราแล้วได้ฟังว่า หลังจากฟังแล้วต้องเป็นกุศลหรืออกุศล หลังจากที่ได้ยินดับไปแล้ว เราไม่ได้พูดโดยละเอียดก็เป็นกุศลหรืออกุศล และขณะนี้เป็นอะไร เห็นไหมคะ เห็นแล้ว เราก็รู้คร่าวๆ ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ว่าขณะนี้เห็นแล้วแน่นอน และหลังจากเห็นแล้วเป็นอะไรไม่รู้ แล้วไม่รู้เป็นอะไรคะ

    อ.กุลวิไล เป็นโมหมูลจิต พอดีก็ได้อธิบายแล้วว่า จริงๆ ในชีวิตประจำวันถ้าไม่เป็นไปในกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลแน่นอน เมื่อมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ไม่ว่าจะเอื้อมมือไปหยิบสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยโลภะบ้าง ถ้าไม่ใช่เพราะติดข้องต้องการในสิ่งนั้น ก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะที่ไม่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏแล้วเอื้อมมือไปหยิบสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่รู้ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ค่ะ จริงๆ แล้วก็ต้องทราบว่า ทางฝ่ายอกุศลมี ๓ ประเภท คือ โลภมูลจิต ๘ ประเภท โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ตำราทุกตำรามี หนังสือทุกเล่มมี อ่านเป็นอย่างนี้ แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องคิดโดยละเอียดว่า เราสามารถรู้ได้จริงๆ หรือเปล่า ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ทุกคนไม่ว่าใคร เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ภวังคจิตเกิดต่อ วิถีจิตแรกเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ภวังค์ ต้องเป็นทางมโนทวาร แล้วก็เป็นโลภมูลจิต ความติดข้องในอารมณ์นั้น และลองดูว่า เราจะกล่าวได้ไหมโดยชัดเจนว่า หลังจากเห็นแล้ว จะเป็นโมหะ หรือจะเป็นโลภะ

    เพราะฉะนั้น จึงต้องทรงแสดงเรื่องของเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตนั้นว่า ขณะใดเป็นโลภมูลจิต ขณะใดเป็นโทสมูลจิต ขณะใดเป็นโมหมูลจิต ถ้าโลภมูลจิตก็คือมีโลภะเกิดร่วมด้วยเป็นมูลหรือเป็นเหตุประกอบกับจิตนั้น ถ้าโทสมูลจิตก็คือจิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นมูลประกอบกับจิตนั้น หรือถ้าเป็นโมหมูลจิตก็คือขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีโลภเจตสิก และไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สำหรับโลภะ และโทสะจะมีความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์เกิดร่วมด้วย แต่สำหรับโมหมูลจิต จะมีเฉพาะอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว สำหรับโลภะจะเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ หรือโสมนัสเวทนาก็ได้

    อันนี้ก็เป็นชีวิตประจำวัน เวลาที่เราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอะไร ความรู้สึก โสมนัสไหมถ้าเห็นสิ่งทีถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ได้ยินเสียงที่ชอบที่หู ได้กลิ่นที่ชอบทางจมูก ทางลิ้นก็รสอร่อย ทางกาย สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เบาสบาย

    นี่แสดงให้เห็นว่า จะต้องค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ แม้ในขั้นการศึกษา ก็ต้องเปรียบเทียบว่า แท้ที่จริงแล้วจะรู้จริงๆ ได้ไหมว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต หรือว่าขณะไหนเป็นโมหมูลจิต ยกเรื่องที่ทรงแสดงว่า หลังจากที่เกิดแล้ว วิถีจิตแรกต้องเป็นมโนทวารวิถี แล้วก็เป็นโลภมูลจิต

    นี่แสดงให้เห็นว่า โดยการที่ทรงแสดงไว้ต่างๆ ก็ทำให้เราเปรียบเทียบว่า แท้ที่จริงแล้วแม้สภาวธรรมจะเป็นอย่างนั้น แต่จะรู้จริงได้ด้วยปัญญา ต้องอบรมตามลำดับขั้น ถ้ายังไม่รู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เราจะไปรู้ละเอียดถึงธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดไม่ได้ แม้แต่ที่กล่าวว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือโลภเจตสิก เห็นไหมคะ เพราะขณะนั้นก็มีทั้งโลภเจตสิก และจิตด้วย ไม่ใช่มีแต่โลภเจตสิกโดยไม่มีจิต แต่ว่าลักษณะใดปรากฏที่พอจะรู้ได้ อย่างความรู้สึก ถ้าตกใจ หรือกลัว หรือเสียใจ หรือเจ็บปวด ขณะนั้นลักษณะที่ปรากฏให้รู้เป็นอะไร เราคิดถึงสภาพความเจ็บ หรือไปคิดถึงจิตขณะนั้นประกอบด้วยความรู้สึกเจ็บ

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาเท่านั้นที่ค่อยๆ อบรมจนสามารถรู้ว่า ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยความรู้สึกนั้น หรือเป็นลักษณะของความรู้สึกนั้นที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เรารู้จักชื่อไว้ก่อนหมด เพียงแต่เข้าใจได้ว่า มีตามที่ทรงแสดง แต่จะรู้ ที่ใช้คำว่า “รู้” จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากำลังมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอารมณ์จริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ ถ้าขณะที่ความรู้สึกเจ็บปรากฏ ไม่ต้องไปนั่งนึกว่า นี่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ หรือจิตที่กำลังรู้ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ แล้วจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นดับไปหมดแล้ว สภาพธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับไปเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น การรู้จริงๆ ต้องไม่มีชื่อ กำลังมีเฉพาะลักษณะปรากฏ ถ้าคิดถึงชื่อ ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพียงอาศัยระลึก ดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละคลายความติดข้อง ไม่ใช่ไปจดจ้องอยู่ที่สิ่งนั้นซึ่งดับแล้ว โดยไม่รู้ แต่จะต้องละคลายด้วยความเข้าใจถูก จนกระทั่งถึงอาศัยเพียงสติระลึกแล้วก็ดับแล้ว และมีสภาพธรรมอื่นปรากฏ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันด้วยการคลายความไม่รู้ และความเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องทราบว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการละคลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการติดข้อง ถ้ามีคำที่แสดงให้เห็นว่า ให้จงใจ หรือให้ทำประการใดๆ ก็ตามด้วยความติดข้อง เมื่อไรจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏเพียงอาศัยระลึก ดับแล้ว และมีสภาพธรรมอื่นปรากฏก็เพียงอาศัยระลึก เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ แต่ต้องด้วยการคลาย ด้วยปัญญาที่รู้ตามลำดับ จะไปฝืนทำอย่างนั้นก็เป็นเรา ไม่ใช่ความรู้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดที่ไม่ประมาทที่จะรู้ว่า ความรู้ขั้นไหนเป็นขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นสติสัมปชัญญะเกิด ขั้นอบรมต่อไปจนกว่าจะประจักษ์ จนกระทั่งขณะไหนเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่วิปัสสนาญาณ และขั้นปริญญาก็ต้องต่อไปอีก หลังจากที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว จึงจะเป็นปริญญาได้


    หมายเลข 2836
    28 ก.ค. 2567