นามธรรมที่เกิดดับมีสอง คือ จิตและเจตสิก
แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นคำใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย หมายความถึงสภาพที่เกิดกับจิต คำว่า “เจตสิก” เกิดกับจิต อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าจิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ว่ามีหลายประเภท ทำไมจึงมีจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิตมีหลายอย่าง จึงก็ทำให้จิต ต่างออกไปเป็นชนิดต่างๆ อย่างโกรธเป็นเจตสิก โลภเป็นเจตสิก เมตตาเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเขาจะไม่จำอะไร จะไม่โลภ จะไม่โกรธ จะไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นลักษณะที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สามารถที่จะจำความละเอียดของทุกอย่างที่ปรากฏได้ รู้ด้วยว่า คนนี้ไม่ใช่คนนั้น หรือว่าแม้แต่เพชรเทียมกับเพชรแท้ สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้สามารถรู้ได้ เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของจิต แต่ว่าขณะที่กำลังจำ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก
เพราะฉะนั้นเจตสิกมี ๕๒ ชนิด ทำให้จิตต่างกันไปเป็น ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้นจิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่คิด แม้ไม่เห็นไม่ได้ยินก็ยังคิดได้ คืนนี้ตอนนอนจะรู้เลยว่า ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ก็ยังคิด ขณะนั้นเป็นจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน จะไม่มีการที่จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิก เพราะเหตุว่าความหมายของสังขารธรรม คือ สภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ แม้แต่รูป จะไม่มีสักรูปเดียวซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดจะต้องมีสภาพธรรมอื่นร่วมกันเกิดปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่แยกกันทั้งนามธรรมและรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากจิตเห็นจิตได้ยิน