สภาพรู้ที่แตกต่างจากจิตคือเจตสิกใช่ไหม


    ผู้ฟัง สภาพรู้ที่เป็นนามธรรมก็มีลักษณะต่างๆ กัน ท่านอาจารย์ก็หมายถึงลักษณะที่แตกต่างไปเป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งแตกต่างกับลักษณะของจิตใช่ไหมครับ ที่ท่านอาจารย์พยายามอธิบายตอนนี้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม ปรมัตถธรรม มี ๔ สภาพธรรมที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นก็มี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป อันนี้ฟังเหมือนชื่อ แต่ความจริงลักษณะของจิตก็คือจิต ลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิดก็เป็นเจตสิกแต่ละชนิด ลักษณะของรูปก็เป็นรูป ซึ่งเราเรียนเพื่อให้เข้าใจถูกต้อง และถูกต้องในสภาพที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏแล้วจะรู้ความจริงได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น มีสภาพธรรมปรากฏตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ จนกว่าจะตาย แต่รู้ความจริงที่เป็นจิต เจตสิก รูปที่ไม่ใช่เราหรือเปล่า หรือเพียงฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง เพราะว่าสภาพรู้ และธาตุรู้ ทั้งจิต และเจตสิกต่างก็เป็นสภาพรู้ แต่ก็มีลักษณะที่ต่างกัน ท่านอาจารย์กำลังพยายามอธิบายตรงนี้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แสดงว่าจิตไม่ใช่เจตสิกแต่ละอย่าง โลภะที่ต้องการได้ผลมากๆ เร็วๆ เวลานี้ก็รู้สึกว่าห่างไกล พระธรรมทั้งหมดที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องละ ซึ่งลืมไม่ได้เลย ถ้าใครคิดว่า ต้องการหรือจะได้ นั่นคือความเป็นเรา ความเป็นตัวตน ซึ่งทำให้ต้องการ และไม่มีวันจะถึงอะไรเลย เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเครื่องเนิ่นช้า และไม่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ใครก็ตามถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า มีอกุศลมากเท่าไร และการรู้ความจริงของสภาพธรรมก็คือขณะนี้ จะเป็นโพชฌงค์ หรือจะเป็นสติปัฏฐาน จะเป็นอิทธิบาท จะเป็นอินทรีย์ หรืออะไรทั้งหมด ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรมที่อบรมแล้ว เจริญแล้ว สภาพธรรมเกิดดับตามปกติในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา และข้างหน้าก็จะเหมือนอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะมีตัวตนซึ่งไปพยายามทำ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น ผู้นั้นจะรู้เลยว่า เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น และต่อไปถ้าถึงความสมบูรณ์ของปัญญา สามารถรู้ได้ว่า ปัญญาสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม แล้วต่อไปยังสามารถรู้ได้ว่า เริ่มคลาย เริ่มสละความเป็นเราทีละเล็กทีละน้อย น้อยมากตามระดับขั้นของปัญญาที่เพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถสละความเป็นเราได้ทั้งหมด


    หมายเลข 2880
    28 ก.ค. 2567