คำว่า ดูก่อน ดูกร แปลว่าอะไร
ผู้ฟัง เมื่อมีคำว่า “หนอ” แล้ว “ดูก่อน ดูกร” หมายความว่าอะไร
ท่านอาจารย์ พอเรียกแล้วสนใจไหมคะที่ถูกเรียก เพราะฉะนั้น ถ้าถูกเรียกแล้วสนใจฟัง เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกเพื่อจะให้ฟัง บางทีก็กำลังคุยกัน บางทีก็คิดถึงเรื่องอื่น กำลังคิดอะไรค้างอยู่ ขณะนั้นก็จะพลาดโอกาสที่จะได้ยินแม้สักคำเดียว ซึ่งก็ไม่ควรจะพลาด ด้วยเหตุนี้จึงตรัสเรียกก่อนเพื่อจะได้ทรงแสดงธรรม แล้วเมื่อกี้นี้ถ้าไม่มีคำว่า “หนอ” จะเข้าใจมากกว่ามีคำว่า “หนอ” ในภาษาไทยหรือเปล่าคะ ลองคิด คือความเป็นความไพเราะของภาษาบาลีจริง แต่ว่าอรรถในภาษาไทย ถ้าใช้คำนั้นแล้วจะรู้สึกว่า เข้าใจ หรือไม่ใช่ก็เข้าใจ อย่าง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพียงเท่านี้เข้าใจ แต่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เข้าใจไหมคะ หนอ ที่ถามเพราะไม่เข้าใจใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ทำให้ไม่เข้าใจก็ไม่จำเป็น นั่นเป็นเรื่องของภาษา แต่เรื่องของความเข้าใจอรรถนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาว่า เพียงคำว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เราเข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มคำที่ทำให้เราสงสัย หรือว่าไม่เข้าใจ และเวลาที่บอกว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ คิดอย่างไรคะ หรือเวลานี้สังขารทั้งหลายก็ไม่เที่ยง ก็ต้องอุทานออกมาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหรืออย่างไรคะ แบบที่บางคนบอกว่า เวลาได้ยินให้พูด หรือให้คิดว่า ได้ยินหนอ เคยได้ยินไหมคะ ขณะที่กำลังได้ยิน ทุกคนได้ยินเป็นปกติ พูดหรือเปล่าว่า ได้ยิน ไม่พูด แล้วทำไมต้องพูดว่า ได้ยินหนอ เพื่ออะไรคะ เตือนสติว่าอย่างไร เพราะขณะนั้นได้ยินหมดแล้ว แล้วพูดว่า ได้ ยิน หนอ ขณะที่ไม่ได้ยิน ขณะที่ไม่ได้ยินนึกถึงคำว้า ได้ เพราะขณะนึกถึงคำว่า “ได้” ขณะนั้นจะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ จะรู้เสียงไม่ได้ ต้องมีคำที่นึกถึงเป็นอารมณ์
ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ แต่สิ่งที่รวมกันแล้วเกิดความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้แต่คำ ภาษาที่ใช้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ หมายความว่าเป็นสิ่งที่กล่าวขานให้รู้ความหมายของสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น ชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมแม้ไมมีชื่อ ก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร ทุกคนมีชื่อหมดเลย ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกอย่างไรคะ ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย แถวที่ ๖ ก็ลำบาก หรือขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตะวันอย่างนี้ แต่ถ้ากล่าวว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน เราก็เข้าใจได้ และไม่ได้เข้าใจผิดว่า หมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ ๕ ที่ใช้คำว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง
นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า มี ๒ อย่าง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์
พอจะเข้าใจความต่างของสัจธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะว่า ถ้าเป็นปรมัตถสัจจะหมายความถึงเป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริงที่เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมติสัจจะก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง โดยคำที่ใช้ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้วเป็นสัจจะไหน เป็นปรมัตถสัจจะหรือสมมติสัจจะ สมมติสัจจะ จาน ช้อน ส้อม ก็เป็นสมมติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็งเป็นปรมัตถสัจจะ
เพราะฉะนั้น ก็สามารถแยกสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความเป็นลักษณะนั้นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ