อาการ ๓ - ขันธ์ - อุทยัพพยญาณ
อ.ธิดารัตน์ อันนี้อยู่ในหัวข้อ พรรณนาคาถาว่าด้วยอุทยัพพยญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขณะที่สติปัฏฐานระลึก ใช่ไหม ต้องรู้ด้วย
อ.ธิดารัตน์ ไม่ใช่ แล้วท่านก็อธิบายลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่างๆ แล้วก็อธิบายว่า อาการ ๓ นี้มิได้เป็นสภาพที่นับเนื่องด้วยขันธ์ เพราะ ไม่เป็นสภาวธรรม ทั้งมิได้เป็นขันธวิมุติ พึงเว้นจากขันธ์ แต่อาศัยขันธ์ทั้งหลายก็ได้ ด้วยอำนาจโวหาร พึงทราบเป็นบัญญัติพิเศษ ที่เกิดแต่ขันธ์ ซึ่งเป็นเหตุพิเศษ แห่งการแสดงโทษของขันธ์นั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอ่านซ้ำอีกที ตั้งแต่ต้นทีละบรรทัด ทีละวรรคเพื่อที่จะได้เข้าใจได้
อ.ธิดารัตน์ อาการ ๓ นี้ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มิได้เป็นสภาพที่นับเนื่องด้วยขันธ์ เพราะไม่เป็นสภาวธรรม ทั้งมิได้เป็นขันธวิมุติ เพราะเว้นจากขันธ์ทั้งหลาย
ท่านอาจารย์ จะยกลักษณะ ๓ นี้ขึ้นมาเป็นขันธ์ เหมือนเสียง เหมือนกลิ่นเหมือนรส ได้ไหม เข้าใจใช่ไหม ประโยคที่ว่านี้ อ่านอีกครั้งหนึ่ง ที่ว่าไม่นับเนื่อง เพราะเหตุว่าไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่มีขันธ์ออกมาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนรูป เหมือนเสียง เหมือนกลิ่น เหมือนรส
อ.ธิดารัตน์ เพราะพึงเว้นจากขันธ์ทั้งหลายมิได้ หมายถึงว่าคงจะต้องเป็นลักษณะของขันธ์ ๕ เว้นจากขันธ์มิได้ แต่ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีขันธ์ ลักษณะ ๓ จะมาจากไหน จะมีขึ้นได้อย่างไรแต่ว่าตัวลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นขันธ์ของเขาต่างหาก
อ.ธิดารัตน์ ข้อความต่อไป แต่อาศัยขันธ์ทั้งหลายก็ได้ โดยอำนาจโวหาร พึงทราบว่าเป็นบัญญัติพิเศษ ที่เกิดแต่ขันธ์ ซึ่งเป็นเหตุพิเศษแห่งการแสดงโทษของขันธ์นั้น
ท่านอาจารย์ เป็นโวหารหรือเปล่า บัญญัติพิเศษเป็นโวหารหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เมื่อไม่ถึง แล้วเราก็มาวุ่นวาย แล้วเรามาคิดเรื่องคำ บางคนมีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ ก็ยังถามว่าเรียกว่าอะไร อยากเรียกชื่อ อยากรู้ว่าเรียกอะไร ก็ลักษณะนั้นก็ปรากฏแล้วใช่ไหม จะเป็นบัญญัติพิเศษ หรือจะเป็นอะไร แต่เมื่อลักษณะนั้นปรากฏแล้ว ยังจะต้องเรียกชื่ออะไร
อ.ธิดารัตน์ ตรงนี้จบหัวข้อของบัญญัติพิเศษแล้ว จะมีอธิบายต่ออีก คือเป็นคนละพารากราฟกัน ใช้คำว่า คำว่าทั้งปวงในที่นี้ ได้แก่ ลักษณะ ๓ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และขันธ์ ๕ ที่พึงกำหนด คำว่า ย่อมกำหนดหมายตามสภาพที่เป็นจริงได้ ด้วยอุทยัพพยญาณ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณนี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจบัญญัติลักษณะ และขันธ์นั้น ในอรรถแห่งลักษณะ และขันธ์นั้น แล้วท่านก็จุดจบไปแล้ว แล้วท่านจะอธิบายเว้นวรรค อธิบายต่ออีกว่า ก็วิปัสสนาที่มีลักษณะ เป็นต้น เป็นอารมณ์พึงรู้ความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ท่านกล่าวว่าชื่อ อุทยัพพยญาณ อันนี้ก็หมายถึงเหมือนกับว่าถ้าเป็นวิปัสสนาญาณมีลักษณะเป็นต้นเป็นอารมณ์ เห็นความเกิดขึ้น และดับไปเสื่อมไป ชื่อว่าอุทยัพพยญาณ ชื่อว่าอุทยัพพยญาณ ตรงนี้จบแล้ว วิปัสสนาญาณมีลักษณะเป็นต้น เป็นอารมณ์ เพื่อรู้ความเกิดขึ้น และดับความเสื่อมไป ท่านกล่าวว่าชื่ออุทยัพพยญาณ เพราะว่าอุทยัพพยญาณ จะมีลักษณะ มีทุกขลักษณะเป็นต้น เป็นวิสัยก็หามิได้ อีกอย่างหนึ่ง อุทยัพพยญาณ นั่นเอง ไม่พึงอยู่ในความที่มีลักษณะเป็นทุกขลักษณะ เป็นต้น เป็นวิสัย แต่พระโยคาวจรผู้ใคร่จะกระทำอุทยัพพยญาณให้คม และให้เฉียบแหลม พึงกระทำการพิจารณาลักษณะ ๓ นั่นเอง ก็พิจารณาลักษณะ ๓ นี้ เป็นเช่นกับบริกรรมของอุทยัพพยญาณนั้น แม้ในยามที่เหลือก็นัยนี้
ท่านอาจารย์ เข้าใจอย่างไร อ่านไปจนจบเล่ม ก็ได้ แต่ว่าเข้าใจอย่างไร แล้วก็จะเข้าใจได้แค่ไหน และควรที่จะเริ่มเข้าใจอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นความเข้าใจของเราเองจริงๆ ถ้าได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ แล้วจะสงสัยไหม ไม่ว่าพยัญชนะจะกล่าวใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าถ้าเรายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถึงอ่านอย่างไรก็ไม่หมดความสงสัย เพราะฉะนั้นที่ถามว่าอ่านจบแล้วเข้าใจอย่างไร กี่เล่มๆ ก็ตามแต่ อ่านจบแล้วเข้าใจอย่างไร เข้าใจเรื่องราวเท่าที่จะเข้าใจได้ แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมนั้นตราบใด ก็ยังคงสงสัยอยู่ และก็เรื่องราวที่คิดว่าเข้าใจแล้ว จริงๆ คืออย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะต้องสะสมความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ตามลำดับขั้น เพื่อจะได้ไม่สงสัย แต่ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ จะอ่านสิ่งที่มีสักเท่าไหร่ ก็ยังสงสัยอยู่