ขันธ์ กับ จิต เจตสิก รูป


    อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์ พูดถึงขันธ์ ก็คือไม่พ้น จิต เจตสิก และรูป แล้วขันธ์นี้ก็เกิด-ดับ คือ จิต เจตสิก รูป ก็เกิด-ดับ แต่ถ้าอาการ ไตรลักษณ์ ไม่ใช่ขันธ์ เพราะเป็นเพียงแค่อาการเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะของขันธ์

    อ.กุลวิไล อาการจึงไม่มี ไม่ใช่ จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยกออกไปว่ามีเกิด-ดับ โดยที่ว่าไม่มีขันธ์ ไม่มีจิตเจตสิก รูป แล้วอะไรไปเกิด ไปดับ อยู่ตรงไหนได้

    ผู้ฟัง แล้วบัญญัติพิเศษคืออะไร ช่วยสรุปด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ท่านกล่าวว่า เหมือนกับว่าแสดงโดยอำนาจโวหาร

    ผู้ฟัง เป็นขันธ์หรือเปล่า หรือไม่ใช่ขันธ์ หรือเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่คือประโยชน์ของการอ่าน ทุกคนไตร่ตรองด้วยตัวของเราเอง ถ้าเรามีความเข้าใจว่าสภาพธรรมที่มีจริง คือจิต เจตสิก รูป ที่ใช้คำว่าขันธ์ รูปก็คือเป็นส่วนหนึ่งที่ว่าจะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นใน ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์หนึ่ง และรูปขันธ์จริงๆ เราจะรู้ไหมว่าหยาบ ละเอียดแค่ไหน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก นี่คือแม้แต่เพียงความหมายของคำว่าขันธ์ เราก็ต้องเข้าใจว่าเราจะรู้จักขันธ์เมื่อไหร่ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด คือรู้จักตัวจริง ไม่อย่างงั้นเราก็รู้จักในชื่อตลอดเวลาใช่ไหม เย็น -ร้อน อ่อน-แข็ง นุ่ม แค่ไหนก็ไม่รู้ได้ จนกว่าเมื่อมีการกระทบสัมผัสเป็นกายวิญญาณ ดับแล้วอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถที่จะรู้ บอกได้ไหมวันนี้เราสัมผัสสิ่งที่ปรากฏทางกายหลายอย่าง แต่ว่าแต่ละอย่างหลากหลายอย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราจะไม่รู้เลย แต่พอสติสัมปชัญญะเกิด ความหมายของขันธ์ทั้งหมด ๑๑ อย่าง เราสามารถที่จะเข้าใจได้เมื่อสติปัฏฐานเกิด จะหยาบ จะละเอียด จะปราณีต จะเลว จะไกล จะใกล้ จะอะไรก็แล้วแต่ เท่าที่เราสามารถที่จะกล่าวถึงอรรถนั้น นี่ก็คือความหมายของขันธ์ คือสภาพธรรมที่เกิด-ดับ

    เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แล้วประจักษ์การเกิด-ดับของสภาพธรรมจริงๆ เราก็เข้าใจความหมายของขันธ์ ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่ดับ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่ดับแล้วจะเป็นอดีตได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม และสิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังไม่ถึง เมื่อขณะที่สภาพธรรมกำลังเป็นปัจจุบัน ก็ยังไม่มาถึง แต่เมื่อสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันนี้ดับ และเป็นอดีต สิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังไม่เกิดก็เป็นปัจจุบัน เราก็จะสามารถเข้าใจความหมายนั้นได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่เราได้ฟัง เป็นสิ่งที่เราจะค่อยๆ ระลึก แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วโวหาร สำนวน จะเป็นประการใดก็แล้วแต่ แต่ว่าความจริงก็คือว่าได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้ว


    หมายเลข 3048
    4 ก.ย. 2567