อารมณ์ขณะไหนเป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติ
ท่านอาจารย์ ระลึกถึงสิ่งที่ได้เคยประสบได้ แต่เวลาที่เราศึกษาธรรม เราต้องรู้ ว่ามีทางที่จะรู้อารมณ์ได้ ๖ ทาง และทางใจขณะไหนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ และจะรู้ได้ว่าเป็นปรมัตถอารมณ์อย่างไร ที่จะไม่ใช้บัญญัติอารมณ์ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องรู้ว่าขณะนั้นด้วยปัญญาจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่ามีบัญญัติที่เป็นอารมณ์ หรือว่าเป็นปรมัตธรรมที่เป็นอดีตเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง เป็นไปได้ที่เราคิดนึกในสิ่งที่เรารู้สึก แล้วก็เห็นจริงตามนั้นเพราะเคยเห็นตัวจริง ก็คิดนึกถึงตัวจริง เราก็เลยเหมาเอาว่าเป็นใช่ มันผ่านมาแล้ว มันไม่ใช่ปัจจุบันอารมณ์ มันผ่านมันเป็นอดีตด้วย
อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากว่าปัญญายังไม่มีกำลัง ก็อาจจะหลงผิดไปได้อีก คิดว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นอีก
ผู้ฟัง น่ากลัวมาก เราอย่านึกว่าเรานั่งอยู่นี่เราถูก ขึ้นไปญาณที่ ๓ ยังเห็นผิดได้ ไม่บรรลุหรอกอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ไปหรอกอยู่ตรงนั้นเอง นึกว่าตัวเองบรรลุแล้วด้วยซ้ำ
ท่านอาจารย์ แต่เห็นผิดจะไม่เหมือนอย่างผู้ที่ไม่มีอุทยัพพยญาณเป็นอารมณ์ ต้องรู้ด้วยว่ากำลังของปัญญาต่างกันแล้วถึงระดับประจักษ์การเกิด-ดับ เพราะฉะนั้นที่ว่าเห็นผิด จะเห็นผิดแค่ไหน จะต้องจางกว่าผู้ที่เคยมีความเห็นผิดมากๆ และไม่ใช่เป็นระยะเวลาที่ว่าจะยาวนานไปได้เลย เพราะว่าปัญญาที่ได้เคยสั่งสมมา จนกระทั่งสามารถประจักษ์อุทยัพพญาณได้ ก็จะมีเพียงชั่วขณะซึ่งอาจจะมีความยินดี ในขณะที่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ในขณะที่ยินดียังมีความเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นความเห็นผิดของผู้ที่ถึงอุทยัพพยญาณ กับผู้ที่ไม่ถึงอุทยัพพยญาณ อย่าได้เปรียบเทียบกัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราเพียงได้ยิน เราอย่าเพิ่งไปปักใจคิดว่าโดยสำนวน โดยคำที่เราได้ยินคืออย่างนี้ตามที่เราคิด แต่เราจะต้องรู้เลย มิฉะนั้นเราก็อาจจะคิดอย่างที่คุณสุรีย์กล่าว แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าคิดถึงปัญญาที่อบรม กว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ ไม่ใช่ว่าเล็กน้อยเลย จากนามรูปปริทเฉทญาณ ไปจนกว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ เพราะฉะนั้นสภาพของธรรมเกิด-ดับสืบต่อ ตามการสะสมอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรที่ จะไปหยุดยั้งความคิดได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะไหนไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ขณะไหนเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของไตรลักษณ์ ที่จะต้องทำให้สามารถที่จะเห็นโทษต่อไป หรืออะไร แต่ว่าไม่ใช่ว่าเปรียบเทียบว่าพอเป็นอุทยัพพยญาณ แล้วเกิดความเห็นผิดมากมาย
ผู้ฟัง ไม่ถึงตรงนั้น แต่หมายความว่ายังไม่หมดความเป็นตัวตน ยังสำคัญของตนอยู่
ท่านอาจารย์ ยังสำคัญตน เพราะว่าความสำคัญตน ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด ต้องรู้ระดับขั้นด้วย แล้วเราก็จะไม่ไขว้เขว
อ.ธิดารัตน์ เคยอ่านพบมาก็คือ ท่านแสดงว่าถ้าหากว่าผู้ที่ได้อุทยัพพยญาณ แล้วก็มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ก็อาจจะหลงผิดคิดว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว ก็จะไม่เจริญธรรมต่อ ก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเนิ่นช้าอยู่อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กี่ขณะ กี่วัน กี่เดือน หรือตลอดชาติคนนั้น จะไม่รู้อีกเลย ใช่ไหม เราฟังแค่นี้ เราก็คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริง คิดถึงปัญญาที่สามารถจะถึงอุทยัพพยญาณ จากนามรูปปริเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ ก็ยังเป็นตรุณวิปัสสนา และเวลาที่มีการเทียบเคียงต่อไป แม้อุทยัพพยญาณที่มีอุปกิเลส ก็ต่างกับวิปัสสนาญาณที่เป็นอุทยัพพยญาณที่ไม่มีวิปัสสนูปกิเลส นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราอย่าเอาความคิดของเราเข้ามาใส่ และก็คิดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องเป็นการที่สามารถที่จะถึง แล้วก็สามารถที่จะรู้ความหมาย ที่ท่านแสดงไว้ว่า จริงๆ แล้วลักษณะนั้นเป็นอย่างไร