วิบากจิต กับ วิถีจิต


    ผู้ฟัง ขอทบทวนความเข้าใจ ว่าจิต ๓ ดวงไม่ใช่วิถีจิต คือปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต จะใช้คำว่าไม่ใช่ หรือว่าไม่เป็น และข้อที่สองก็คือ จิตทั้ง ๓ ดวงนี้เป็นวิบากจิตอีกด้วย ขอคำอธิบาย

    ท่านอาจารย์ การที่จะกล่าวถึงจิต กล่าวได้หลายนัยยะ ตั้งแต่เริ่มว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสังขารธรรม เกิดดับ แล้วเวลาที่เกิดมาแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นละเอียดขึ้น เช่น จิตที่เกิดนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว เป็นชาติอะไร เพราะเหตุว่าสภาพของจิตที่เกิดจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ ชาติ คือเมื่อเกิดแล้วเป็นกุศล หรือว่าเกิดแล้วเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ หรือว่าเกิดขึ้นเป็นวิบาก คือผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม หรือว่าเกิดขึ้นเป็นกิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก นี่คือจิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้น เราสามารถที่จะเข้าใจจิตนั้นละเอียดขึ้น และเมื่อเข้าใจแล้ว ว่าจิตนี้เป็นชาติอะไร ก็ควรที่จะได้รู้ว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน ไม่ใช่ว่าจิตหนึ่งขณะเกิดมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่จิตหนึ่งขณะที่เกิดจะเป็นชาติอะไรก็ตาม ทุกจิตต้องมีกิจการงานหน้าที่ของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดเรื่องชาติแล้ว เราก็พูดเรื่องกิจการงานของจิตนั้น ซึ่งกิจการงานของจิตทั้งหมด จะมี ๑๔ กิจ จิตที่เกิดขึ้นจะต้องทำกิจหนึ่ง กิจใด ใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นเราก็ทราบว่าถ้าพูดถึงกิจของจิต ก็จะรู้ได้ว่ามีอะไรบ้าง เช่นปฏิสนธิ คือกิจของจิตที่ทำหน้าที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน นี่คือปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นเราจะเรียกชื่อจิตตามกิจก็ได้ คือจิตใดที่ทำปฏิสนธิกิจ เราก็เรียกว่าปฏิสนธิจิต และปฏิสนธิจิตก็ต้องมีชาติ เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงต้องมีชาติ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นชาติอะไร นี่คือการที่จะรู้จักจิตหนึ่งขณะละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าได้ยินคำว่าวิถีจิต ต้องหมายความถึงจิตที่อาศัยทางหนึ่ง ทางใด ใน ๖ ทาง รู้อารมณ์ที่ไม่ใช้อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เพราะว่าจิตทุกขณะ เกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย และสิ่งที่จิตกำลังรู้นั้นก็ใช้คำว่าอารัมมณะ หรืออารัมพณะ เพราะฉะนั้นจิตที่จะไม่มีอารมณ์หรืออารัมมณะ อารัมมพณะ ไม่ได้เลย จิตทุกขณะไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ที่ไหน แม้แต่จิตขณะแรกที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีอารมณ์

    ผู้ฟัง ประเด็นที่สอง คำว่า ๑๔ ขณะ แต่ละขณะก็มี ๑๔ กิจ แล้วก็มีที่ว่ามีอายุ ๑๔ ขณะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตหนึ่งขณะ เราจะทราบว่าหนึ่งขณะนี้คืออย่างไร หนึ่งขณะ มีอนุขณะ ๓ อนุขณะ คือขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ในระหว่างที่เกิด แล้วยังไม่ดับ ก็เป็นฐิติขณะที่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตนี้ จะเกิดที่ไหน ภูมิไหนก็ตาม ต้องมีอายุเท่ากันทั้งหมดคือ ๓ อนุขณะ แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง หนึ่งขณะ คือ ๓ อนุขณะ แล้วที่ว่าเป็นอายุของรูป ๑๗ ขณะของจิตทีนี้คำว่า ๑๗ ขณะนี้ถ้าคูณด้วย ๓ ก็เป็นอนุขณะทั้งหมดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    หมายเลข 3057
    10 ธ.ค. 2567