รับผลของกรรมตั้งแต่ปฏิสนธิ
ผู้ฟัง ขอทราบลำดับของการกระทำกรรม การรับผลของกรรม และการกระทำกรรมใหม่ และการรับผลของกรรมใหม่ เช่น กรณี ถูกหินทับ หรือถูกรถชน เป็นต้น
ท่านอาจารย์ ต้องทราบตั้งแต่ขณะเริ่มต้นก่อน ขณะนั้นยังไม่มีอุบัติเหตุหรือไม่มีอะไรทั้งหมด การที่อุบัติขึ้นในโลกนี้ได้ เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากเกิด ถ้าได้ยินว่าจิตใดเป็นวิบาก ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรมหนึ่ง กรรมใด ที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ก็จะต่างกันหลากหลาย ไม่ใช่เหมือนกันหมดทุกคน แล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไว้เป็นกรรมประเภทใด เป็นอกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ปฏิสนธิในอบายภูมิ ภูมิที่ไม่เจริญด้วยกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเป็นภูมินรก เปรต อสูรกาย สัตว์ เดรัจฉาน ที่เป็นอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ปราณีตขึ้น ตั้งแต่มนุษย์ สวรรค์ ขึ้นไป ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมีอารมณ์หรือไม่
ผู้ฟัง มีอารมณ์
ท่านอาจารย์ มี แต่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ขณะจิตแรกที่เป็นวิบากทำกิจปฏิสนธิ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน อารมณ์ไม่ปรากฎเลย เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกัน คือวิบากของกรรมนั้นแหละ เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ภวังค์เกิดดับสืบต่อ จนถึงจุติจิต จิตขณะสุดท้าย ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะปฏิสนธิก็ดับไปแล้ว ขณะที่เป็นภวังค์ คือขณะที่หลับสนิท โลกไม่ได้ปรากฎเลย อะไรๆ ก็ไม่ปรากฎ กุศลจิต อกุศลจิตก็ไม่มี เพราะว่าขณะนั้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ซึ่งอารมณ์ของปฏิสนธิจิตจะต้องเป็นอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ จึงไม่ปรากฎ
แต่กรรมก็ไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ทำให้เกิดแล้วก็เป็นภวังค์ แค่นั้นไม่พอ ต้องมีทางที่กรรมจะให้ผล เพราะฉะนั้น ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ตา คือ จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน หูก็คือโสตปสาทรูป ส่วนที่สามารถกระทบเสียง ไม่ใช่ใบหูทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะรูปที่มีคุณสมบัติที่สามารถกระทบกับเสียงคือโสตปสาท ถ้าเป็นจักขุปสาทก็สามารถกระทบกับรูป วรรณะที่มีสีสันต่างๆ ที่กำลังปรากฎทางตา ถ้าเป็นกลิ่น ฆานปสาทก็กระทบกับกลิ่น ถ้าเป็นรส ชิวหาปสาท ก็กระทบกับรส ถ้าเป็นกายปสาท ก็กระทบกับเย็น ร้อน อ่อนแข็ง ตึง ไหว นี่คือทางหรือทวารของวิบากที่จะเกิดขึ้น เป็นผลของกรรม
แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงกุศล อกุศล เป็นแต่เพียงว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติทั้งหลาย ที่ได้สืบต่อมาจนกระทั่งถึงชาตินี้ มีโอกาสที่กรรมใดจะให้ผล ก็ต้องมีทางของกรรมนั้นๆ ที่จะให้ผลทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าจิตใดเป็นเหตุ กุศล อกุศล จิตใดเป็นวิบาก เพื่อให้ทราบว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนานแสนนาน ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลในชาตินี้ โดยเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นวิบาก ยังไม่ถึงขณะที่เป็นกุศล อกุศล ซึ่งเมื่อเห็นแล้ว กุศล และอกุศลเกิด ไม่ใช่วิบาก ถ้ามีกำลังก็กระทำกรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากต่อไป
ผู้ฟัง ขณะที่เป็นวิบาก เห็น แต่หลังจากเห็นแล้ว ถึงจะเป็น กุศล อกุศล ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากในอนาคต สมมุติว่า ถูกรถชน ขณะนั้นก็ไม่ใช่จาก ตา จากหู จากจมูก จากลิ้น จากกาย อย่างนี้อธิบายอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะที่ถูกรถชน เห็นไหม
ผู้ฟัง เห็น แต่ว่าไม่ใช่เพราะเราเห็น
ท่านอาจารย์ เห็นขณะนั้นเป็นอะไร เป็นวิบาก ได้ยินเสียงรถชนไหม ได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นวิบาก เมื่อเห็นแล้วตกใจไหม ที่มีการชนขึ้น ตกใจ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต เป็นเหตุแล้ว ใช่ไหม ต้องแยกโดยละเอียดเลย ถ้าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ก็มีรูปกับนามเท่านั้นเอง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏ ไม่เคยขาดนามธรรม และรูปธรรม นี่เป็นเหตุที่เราต้องรู้ชัดเจน ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีนามธรรม และรูปธรรม
ผู้ฟัง คือความรู้สึกของผม คืออาจารย์เคยพูดอยู่ตั้ง ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้งแล้ว ว่าเห็นก็เป็นวิบาก ได้ยินก็เป็นวิบาก แต่พอรถชน ไม่มีเห็น ไม่มี อะไรๆ แต่ก็เป็นวิบากเหมือนกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลานี้มีวิบากไหม ต้องมี รถยังไม่ชนเลยก็มี ขณะใดที่เห็นเป็นวิบาก ขณะใดที่ได้ยินก็เป็นวิบาก แต่เวลาคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่วิบาก เป็นรถชน เป็นอุบัติเหตุ เป็นใครชน รถเสียแค่ไหน
ผู้ฟัง ถ้าเกิดรถชนแล้ว เราเจ็บ เราโกรธ เราโมโห ก็ยกปืนขึ้นมาจะยิงเขาอีก ก็กลายเป็นการสร้างวิบาก
ท่านอาจารย์ พอรถชน เราเจ็บ เป็นวิบากหรือเปล่า เป็นวิบาก โกรธเป็นวิบากหรือเปล่า ตกใจ โกรธก็เป็นอกุศล คิดว่าจะยิงเป็นอะไร ก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นต้องแยก จะรู้ได้จริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้ว ก็คือกรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้นที่ถูกรถชน และเจ็บเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะให้ผลทางกาย ก็ทำให้มีการกระทบกายปสาท และความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นทุกขเวทนา เพราะฉะนั้นตัดตอนเลย วิบากคือวิบาก กุศล อกุศล ก็เป็นกุศล อกุศล วิบากจะเป็นกุศล อกุศลไม่ได้ แล้วไม่ปนกันด้วย
ผู้ฟัง แต่เหมือนใกล้ชิดกันเหลือเกิน สืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งเราคิดไม่ออกว่าตรงที่เห็น หรือตรงที่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้าทราบว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็น ได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นวิบาก ต่อจากนั้นก็เป็นกุศล และอกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศล อกุศล ก็เป็นกิริยา
ผู้ฟัง ได้ความเข้าใจขึ้นอีกระดับหนึ่ง ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์