รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม - รูปซึ่งเกิดเพราะจิต


    ผู้ฟัง ที่ผมเรียนถามเมื่อกี้นี้ วิบากไม่มี แต่กัมมชรูปจะมี ไหมครับ กรรมที่ไม่ครบองค์ ไม่ถึงกรรมบถ ไม่มีวิบาก ใช่ไหมคะ แต่ผลของมันก็จะไม่มีด้วย ใช่ไหมครับ หมายถึงรูปหรือว่าอื่นๆ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังต้องแยกนะคะ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม และรูปซึ่งเกิดเพราะจิต รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานกับรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในอุปาทขณะนั่นเอง กรรมก็ทำให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ในขณะนั้นรูปที่เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตไม่ใช่จิตตชรูป แต่เป็นกัมมชรูป

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่ใช่รูปซึ่งเกิดเพราะจิต แต่ในเวลาที่กุศลจิตเกิดกระทำกรรมหนึ่งกรรมใด รูปในขณะนั้นเป็นจิตตชรูป ไม่ใช่เป็นกัมมชรูป

    ผู้ฟัง คือผมไม่ได้หมายถึงจิตตชรูป แต่หมายถึงรูปภายหลัง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเกิดเพราะกรรม

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่กรรมที่ว่านี้ ใช่ไหมครับ กรรมเล็กๆ อย่างถือไมโครโฟนนี่ ไม่ครบองค์ ไม่อยู่ในกรรมบถ กุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กรรมบถ แต่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ท่านผู้ฟังถือไมโครโฟนอย่างนี้ ในขณะที่ท่านผู้ฟังท่านอื่นอาจจะถืออีกอย่างหนึ่งตามการสะสม ตามการคุ้นเคยของการถือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแต่ละคนสะสมมา การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การพูด ไม่ใช่เป็นกรรมทั้งหมดค่ะ แต่ว่าสะสมเป็นอุปนิสัยทำให้กิริยาอาการที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดินก็ต่างๆ กันไป การพูดก็มีลักษณะของรูปต่างๆ กันไป ตามการสะสม ซึ่งไม่ใช่กรรม

    ผู้ฟัง ผลก็ไม่มีเลย เว้นจิตตชรูป

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยไงคะ ที่ทำให้แต่ละคนมีการเดินลักษณะต่างๆ การพูดลักษณะต่างๆ แต่ไม่ใช่เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด เป็นผลของการสะสมของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งทำให้เกิดจิตตชรูปนั้นๆ ขึ้น

    ขณะนั้นไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย เพราะเหตุว่าเจตนาเป็นกรรม แต่ถ้าลืมว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือจิตเป็นอกุศล ถึงแม้ไม่ใช่อกุศลกรรม เป็นอกุศลจิตหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา แยกอกุศลกรรมออกจากอกุศลจิต ถึงแม้ว่าไม่ใช่อกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า ขณะนั้นไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่าไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย แต่อย่าลืมนะคะ อกุศลจิตมี ถึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม แต่อกุศลจิตสะสมแล้วที่จะเป็นผู้ประมาท ผู้เลิ่นเล่อ


    หมายเลข 3100
    2 ส.ค. 2567