ผู้เจริญสติปัฏฐาน กับ ผู้รักษาศีล ๕ ศีล ๘


    ผู้ฟัง เรื่องสติปัฏฐานกับเรื่องศีล ถ้าเราคิดจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ผู้ที่สติปัฏฐานเจริญแล้ว ไม่ต้องรักษาศีลใช่ไหม จะเป็นผู้มีศีลอยู่เสมอหรือเปล่า เป็นศีลชนิดไหน เป็นสังวรศีล หรือว่าเป็นสมาทานศีล

    อ.ประเชิญ ศีลของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน หรือผู้ที่เจริญมรรค ท่านเรียกว่าอธิศีล เป็นศีลที่ยิ่งที่ไม่เหมือนกับศีลทั่วไป ของผู้ที่ไม่ใช่สมัยพุทธกาล คือเรื่องศีลนี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าไม่มาอุบัติขึ้น ก็มีศีลเหมือนกัน อันนี้เรียกว่าศีล ๕ ศีล ๘ หรืออาจจะมีศีล ๑๐ ก็ได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคอุบัติขึ้นแล้ว ก็มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือ ๓๑๑ ของภิกษุณี ก็จะมีศีลเหล่านี้ ซึ่ง ศีลเหล่านี้ ก็เป็นศีลที่เป็นปกติของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตามฐานะของเพศ ตามฐานะของผู้ที่อบรมในที่นั้น ที่ว่าอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ก็ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ตามกำลัง หรือ สามเณรก็ศีล ๑๐ ภิกษุก็ ๒๒๗ หรือภิกษุณีก็ ๓๑๑ ก็คือตามฐานะของเพศ ของแต่ละท่าน แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่รักษาศีลที่เคยรักษา คือรักษาแต่ว่าศีลนั้นเป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีลที่เคยรักษานั้น เพราะว่าเป็นศีลที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นศีลของผู้ที่อบรมเจริญมรรคนั่นเอง เพราะฉะนั้นเป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีลที่เคยรักษาในแต่ก่อนที่ไม่เข้าใจสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจหนทาง ไม่เข้าใจมรรค ก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามั่นคง บริสุทธิ์ขึ้นยิ่งกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา สำหรับศีลของผู้ที่อบรมปัญญานจะมั่นคงกว่า เพราะว่าบางท่านรักษาศีลด้วยการมีเพียงศรัทธา หรือว่าด้วยการถูกแนะนำชักชวนว่ารักษาศีลแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่มีผิวพรรณสวยงามในชาติต่อไป เป็นต้น ก็อาจจะรักษาได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง

    แต่ผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของอกุศล และเจริญกุศลทุกประการ ศีลนั้นก็ยิ่งมั่นคงยิ่งขึ้น หรือท่านใช้อีกศัพท์หนึ่งที่ใช้คำว่า อินทรียสังวรศีล หรืออินทรีย์สังวรศีล ก็เป็นศีลอีกชนิดหนึ่งที่เป็นไปในสติปัฏฐาน ที่จะสำรวมระวังในทวารทั้ง ๖ ที่จะไม่เป็นอกุศล นี่ก็คือศีลระดับหนึ่ง ก็คือศีลในสติปัฏฐาน นี้ด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คือเห็นว่า เปรียบเทียบกัน ก็คืออธิศีลประเสริฐมากที่สุด (เป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีล ๕ ธรรมดา ศีล ๘ ธรรมดา) ขณะที่ว่ามีศีล มีสมาธิ แล้วค่อยขยับภาวนา ศีลโดยเฉพาะเรื่อง ขณะที่เราสมาทานศีล แล้วยังไม่เป็นอินทรียสังวร หมายความว่าเป็นการสมาทานศีล ก็เป็นลักษณะของกุศลจิตแล้ว ขณะนั้นถูกต้องหรือไม่? ถ้าถูกต้องแล้ว ขณะนั้นก็มีสติ หรือแม้กระทั่งสติขณะศีล จำเป็นหรือไม่ที่จะมีขณะศีล ที่รู้ในเรื่องของอะไรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีสติขั้นศีล ก็คงจะต้องเป็นสติที่มีปัญญาด้วยในระดับศีลถูกต้องไหม? เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญการรักษาศีลโดยชนิดที่ว่าสมาทานศีล แล้วก็รักษาศีลได้ กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เป็นโอกาสที่ไม่ควรจะเลือกใช่ไหม ว่าต้องจะเลือก เจริญสติปัฏฐานหรือว่าเลือกจะรักษาศีล เพราะสติปัฏฐานเราไม่รู้จักวิธีการเจริญเลย

    อ.ประเชิญ จริงๆ แล้ว ถ้ากุศลขั้นสูง คือสติปัฏฐาน เป็นกุศลที่ไม่ทั่วไปในทุกกาล เฉพาะยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจสติปัฏฐาน และอบรมปัญญาแล้ว จะทำให้กุศลที่เป็นขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา ยิ่งเจริญยิ่งขึ้น ยิ่งมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องไปห่วงในเรื่องว่า เรายังไม่ได้รักษาศีลเลย เราจะมาเจริญสติปัฏฐานได้หรือ มาจะฟังเรื่องสติปัฏฐานได้หรือ อันนี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะว่าถ้าผู้ที่มีปัญญาเข้าใจในหนทางแล้ว และก็เห็นประโยชน์ของกุศลทุกประการ แล้วก็จะเห็นโทษของอกุศล ก็จะยิ่งค่อยๆ ละในอกุศลเหล่านั้น

    ท่านอาจารย์ เราผ่านเรื่องที่ยาก เรื่องไกลตัว ไปกระทั่งถึงเรื่องที่ในมหาฎีกา ก็กลับมาหาเรื่องง่ายๆ ที่พอจะคิด ก็ขอฝากคำถามให้คิดว่า กุศลจิตเป็นศีลหรือเปล่า? เป็นการบ้าน ขอให้ทุกท่านไปคิดเป็นการบ้าน


    หมายเลข 3203
    4 ก.ย. 2567