ความเพียรผิด กับ ความเพียรถูก
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหูเกิดขึ้นแล้ว ทั้งทางตา ทางหู ทางกลิ่นนี้พร้อมกัน ควรจะหยุดระลึก ตามระลึกถึงเมื่อกี้ อย่างงั้นใช่ไหม? ตามระลึกต่อไป แล้วอาจารย์ก็บอกว่าไม่ต้องไปคิด ว่าจะเป็นยังไง เพราะสภาพจิตมันเร็ว ที่นี่ถ้าเผื่อว่าเราแค่เห็น แล้วก็หยุด แล้วก็ได้ยิน แล้วก็หยุดอีก ก็เลยไม่ได้อะไร
ท่านอาจารย์ หยุดคืออย่างไร และใครหยุด
ผู้ฟัง สมมุติว่าผมเห็นพระบรมสารีริกธาตุ แล้วผมก็ได้เห็นพัดลมหมุน ได้เห็น ได้ยินเสียงนก ถ้าผมไปของผมเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะตามระลึกรู้หรือวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ หรือวิตก ให้เกิดลดละ ไม่มีความรู้สึกที่จะลดละ แต่ถ้าเผื่อผมเห็นใบไม้ร่วง ผมเห็นอะไรสักอย่าง เห็นคนเดินมาเห็นคนแก่ผมขาว ผมก็นึกนี่เป็นสังขาร อาจจะเป็นเรื่องเป็นราวไปอีกรึเปล่า ก็ไม่ทราบ?
ท่านอาจารย์ เป็นแล้ว
ผู้ฟัง ทีนี้ผมเห็นคนแก่ผมขาว ผมก็บอกแค่เห็น แล้วก็จบ ผมก็ไม่ได้อะไรอีกเหมือนกัน แล้วผมจะไปลดละได้ยังไง
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นตัวตน ดูเหมือนจะได้ใช่ไหม? เป็นการยากที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะใช้คำว่า จับปรมัตถธรรม หรือให้ทันปรมัตถธรรม ถูกหรือผิด? เราต้องคิด แม้แต่ได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องจับ ไม่ใช่เรื่องทัน แต่เป็นเรื่องเข้าใจ นี่คือต่างกันแล้ว ที่เข้าใจก็คือรู้ว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือเกิดแล้วดับไป ในขณะนี้เอง แต่ว่าไม่ใช่จะรู้ได้เพียงด้วยการฟัง เป็นไปไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แม้แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นปกติ อย่างที่บางคนคิดว่าจับให้ทัน แล้วก็เพ่งให้ชัด ขณะนั้นก็มีความเป็นเรา ที่กำลังทัน แล้วก็กำลังเพ่ง แต่ว่าตามความเป็นจริง ขณะนี้ทางปัญจทวารกับทางมโนทวารสืบต่อเร็วมาก โดยไม่รู้ตามความเป็นจริง กว่าจะค่อยๆ รู้ ต้องเข้าใจถึงความห่างไกล จากการที่ไม่เคยรู้เลย ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ สภาพธรรมทางตาก็ดับไป ทางหูก็เกิด-ดับ ทางใจก็คิดนึก ล้วนแต่เกิด-ดับสลับเร็วมาก เป็นปกติของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นเหมือนไม่รู้นี่ต้องแน่นอน เพราะเหตุว่าเพียงขั้นฟัง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องลักษณะของสติก่อน ว่าเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดไม่ต่างกับปกติ นี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า คือเดี๋ยวนี้ตามปกติ ไม่ต้องมีการทัน ไม่ต้องมีการจับ ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น แต่เริ่มที่จะเข้าใจว่า ค่อยๆ เข้าใจ ในขณะนี้มีเห็น มีสภาพที่กำลังเห็น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะที่เห็น ถ้ายังไม่เข้าใจ หรือยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จนกว่าจะฟังอีกๆ จนกว่าเริ่มที่จะรู้ว่าลักษณะที่เห็น ก็เหมือนกับเวลาที่แข็งปรากฏ ลักษณะที่กำลังรู้แข็ง สภาพรู้แข็งก็เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้ เมื่อแข็งปรากฏ ถ้าแข็งปรากฏ มีสภาพที่กำลังรู้แข็ง เพราะฉะนั้นขณะที่แข็งปรากฏ มีสภาพรู้แข็ง ขณะเห็นก็มีสภาพรู้ คือเห็น
เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังอย่างมาก ที่จะทำให้มีการค่อยๆ เข้าใจ ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่าสติ ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่าสัมปชัญญะ ไม่ต้องไปคิดว่าตามรู้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ รู้ เพราะฉะนั้นจะพูดภาษาไหนก็ได้ ภาษาที่ว่าตามรู้ หรือว่าค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจก็ได้ และขณะที่กำลังเข้าใจ จะต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจอะไรเลย เหมือนเดิม แต่ว่าเริ่มที่จะค่อยๆ รู้ ทีละน้อย
ผู้ฟัง แต่ผมก็ว่าผมเข้าใจ คำว่าแข็งมันก็คือแข็ง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เข้าใจคำว่าแข็ง แต่เข้าใจลักษณะแข็ง และสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่รู้แข็ง ในขณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งปรากฏ มีสภาพรู้แข็งเป็นธรรมดา แล้วก็มีสติที่กำลังค่อยๆ เข้าใจตรงนั้นลักษณะรู้แข็ง หรือสภาพแข็ง นั่นคือสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วแข็งก็แว๊บเดียว เรายังไม่ทันวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์
ท่านอาจารย์ เราไม่ได้วิเคราะห์ วิจัย ถ้าเราวิเคราะห์ วิจัย คือเรา แต่ว่าจะรู้ลักษณะว่าสติรู้ ใช้คำว่ารู้ตรงลักษณะ อย่างกำลังที่มีแข็งปรากฏ มีสติที่รู้
ผู้ฟัง อย่างน้อยก็ฝึกให้สติมันค่อยๆ คิด อย่างนั้นก็ได้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่เราฝึก คือเป็นการอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นความเพียร เพียรผิดมีไหม? (มี) แทนที่จะไปเพียรผิด ไม่ต้องไปสนใจเรื่องการจะไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะนั่นเป็นเพียรผิด เพียรเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ นี่คือเพียรถูก
ผู้ฟัง กราบขอประทานอภัย คือผมได้ฟังอย่างนี้มาเป็นปีที่ ๙ แล้ว แล้วก็แข็งเฉยๆ เห็นเฉยๆ สีเฉยๆ มันไม่ช่วยผมลดละ แต่ถ้าเผื่อผมเห็นคนแก่ หรือเห็นอะไรที่มันโทรมไป มันทำให้ผมรู้สึกลดละน้อยลงๆ แต่ถ้าเผื่อเห็นแล้วแข็ง เห็นสี มันไม่ได้ช่วยให้ลดลง
ท่านอาจารย์ ผมลดละ ความเป็นผมยังมีอยู่ ละอะไรในเมื่อเป็นผมละ ละความติดในสิ่งที่ปรากฏ แต่ด้วยความเป็นเราที่ยังละ เพราะฉะนั้นความเป็นเรานี่ต่างหากที่ต้องละให้หมดไป ไม่ใช่ไปคิดว่าเราค่อยๆ ละ เคยติดข้องในความสวยงาม พอเห็นสิ่งที่ไม่สวยงามก็ค่อยๆ ปลงไป ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง นั่นคือยังมีความเป็นเราเต็มตัวเต็มที่ ยังไม่ได้ละความเป็นเราเลย
ผู้ฟัง ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ ที่ว่าพยายามสอน พยายามเตือน อย่าให้คิดถึงเรา อย่าให้คิดถึงเรา แต่ขณะที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ค่อยๆ ลดไปทีละนิดๆ
ท่านอาจารย์ ทีละนิด คือลดความเห็นผิด ที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ลดโดยเข้าใจว่าเราลดความติดข้อง แต่ว่ายังมีเราที่ลดความติดข้อง คุณเด่นพงศ์พูดถึง ๙ ปี คนอื่นไม่ทราบเท่าไหร่? คุณอรรณพเท่าไหร่ กี่ปี? มากกว่านั้นอีก นานกว่านั้นอีก ๙ ปีนี้น้อยมาก
ผู้ฟัง คือถ้าเผื่อว่าผมเห็นแล้วแค่สีสันๆ เห็นแค่วรรณะ มันก็อาจจะ ๒๐ หรือ ๓๐ มันก็ยังเป็นอย่างเก่าอยู่
ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะรู้ความต่าง ขณะที่กำลังเข้าใจ กำลังฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจได้ จะน้อยหรือจะมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมมาแค่ไหน แต่ความเข้าใจของคนที่สะสมมาแล้วมาก สามารถจะประจักษ์การเกิด-ดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ไม่เปลี่ยน ไม่ต้องไปทำอะไร แต่ว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้อง ถ้าเทียบกัปๆ ๆ กับ ๙ ปี คุณเด่นพงศ์อาจจะท้อถอย
ผู้ฟัง ผมเข้าใจ เพราะเหตุนั้นแหละ ผมถึงบอกว่ามันน่าจะค่อยๆ ลดลงอีก
ท่านอาจารย์ มันจะลดลงแบบให้เห็นฮวบฮาบ หรือว่ายังมีความสงสัย ยังเพิ่งจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด
ผู้ฟัง ผมอยากใช้คำว่าผมระลึก และวิเคราะห์ จะใช้คำอะไรเรียกไม่ถูก คือระลึกตาม เห็นตาม ว่าค่อยๆ เห็นว่าทำไมสภาพธรรมมันเปลี่ยน มันมีปัจจัยอะไรทำให้เปลี่ยน อย่างนี้ยังไม่ถูกอีก?
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นผมทั้งหมด ตัวตนทั้งหมด ไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของธรรม ไม่ใช่การเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธรรม คือลักษณะของรูปธรรม และลักษณะของนามธรรม แต่เข้าใจว่าตัวเองลดเพราะคิด
ผู้ฟัง แต่ผมว่าผมลด คือผมลดละ ผมไม่อยากได้อะไรมากไปเมื่อเทียบกับ ๒๐ ปี ๓๐ ปีก่อน
ท่านอาจารย์ ผมไม่อยากได้ แต่ตัวผมยังมี การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อไม่ให้มีเรา ไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ใช่ให้ไปลดอย่างอื่น พระโสดาบันท่านก็ยังมีโลภะ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่มีความเห็นผิด หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ได้ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนด้วยความเห็นผิดเลย ถ้าคุณเด่นพงศ์อยากจะให้เห็นผลเร็ว ทิ้งไปหมด ไม่รู้ก็ไม่รู้ ค่อยๆ รู้ ช้าก็ช้า ช้าแน่นอน
ผู้ฟัง จะช่วยผมได้ไหม เพราะว่าผมเป็นคนเดียวที่ดื้อหรือเปล่า ไม่รู้นะ
ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์ต้องการอะไร ต้องการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าต้องการผลเร็วๆ
ผู้ฟัง กราบเรียนอาจารย์ ๙ ปี ผมก็คิดว่าผมพยายามระลึกถึง แล้วก็พยายามวิจัย วิจารณ์ วิเคราะห์ เห็นอะไร เห็นมันเปลี่ยนแปลง เห็นมันเสื่อมสลาย มันช่วยให้ผม อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่าเรียนธรรมเพื่ออะไร เพื่อลดละ ผมก็พยายามทำ
ท่านอาจารย์ ลดละความเป็นตัวตน ไม่ใช่ไปลดละโลภะ หรืออะไรที่ไปคิดเอา
ผู้ฟัง ในที่สุดตัวตนคงหายไปด้วย
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่าเป็นตัวตนตลอด ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็เป็นตัวตนตลอด