จิตตั้งมั่นโดยนัยของสมถะกับวิปัสสนา
สำหรับพยัญชนะที่ว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า มีข้อความอธิบายว่า
ตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ด้วยสามารถแห่งปฐมฌาน เป็นต้น
ตั้งมั่น ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก คือการที่จิตอยู่ในอารมณ์หนึ่งเสมอๆ เรื่อยๆ นั่นเป็นลักษณะของสมถภาวนา เป็นลักษณะของปฐมฌาน ด้วยสามารถแห่งปฐมฌาน อยู่ที่อารมณ์นั้นตลอดเวลา
อีกนัยหนึ่ง เมื่อออกจากฌาน พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน ด้วยองค์ฌานโดยความสิ้นไป เสื่อมไป เอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะย่อมบังเกิดขึ้นด้วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา
ภิกษุตั้งจิตไว้เสมอ (คือวางไว้เสมอในอารมณ์) แม้ด้วยสามารถเอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะอันบังเกิดขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ย่อมศึกษาว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจออก หายใจเข้า
ตั้งมั่นเพียงชั่วขณะเดียวที่รู้แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือการตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา
ไม่ใช่ให้จิตไปจดจ่อ ไปตั้งไว้เสมอในอารมณ์เดียว โดยลักษณะของสมาธิ แต่ว่าชั่วขณะที่รู้ความไม่เที่ยง ความเสื่อม ไปความสิ้นไป ในขณะนั้น มีเอกัคคตามีความตั้งมั่น ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่น โดยนัยของวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หมายความว่า ให้ไปมีตัวตนที่พากเพียรที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่เฉพาะอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ซึ่งเป็นการจำกัดอารมณ์ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อปัญญารู้ชัด ถ้าสมมติว่าขณะนี้ ท่านได้เจริญสติปัฏฐานมาแล้ว ๒๐ ปี ชั่วขณะที่หลงลืมสติก็ต้องมีเพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ว่าพอมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ปัญญาที่ได้เจริญอบรมมาในระหว่าง ๒๐ ปีนั้น ย่อมรู้ชัดมากกว่าวันแรกที่สติเพิ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป แต่ไม่ใช่หมายความว่าไปพากเพียรด้วยตัวตนให้ติดต่อกันไม่ขาดสาย แต่หมายความว่า ปัญญาที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทุกขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ความรู้ชัดในนามนั้นรูปนั้นก็มากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอินทรีย์แก่กล้า ก็แทงตลอดลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือ การตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา