สติปัฏฐานต้องรู้ชัด รู้จริง รู้แจ้ง รู้ทั่ว
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า สมัยนั้นภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติสำหรับผู้มีสติหลงไม่มีสัมปชัญญะ
ถ้าไม่มีสัมปชัญะ เวทนาเกิดก็ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติใดปรากฏก็ไม่รู้ นั่นคือพูดมีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า เพราะฉะนั้นแหละอานนท์ สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมสัสในโลกเสียได้ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ดูกรอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออกหายใจเข้า ภิกษุย่อมคลายกำหนัด หายใจออกหายใจเข้า ภิกษุจักพิจารณาความดับ หายใจออกหายใจเข้า ภิกษุจักพิจารณาความสละคืน หายใจออกหายใจเข้า สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาย และโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌา และโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นแหละอานนท์ สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนมีกองบุญใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนรถผ่านมาในทิศบูรพาก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้
ไม่ใช่ให้จำกัดคือการรู้เฉพาะกายานุปัสสนา หรือว่าเวทนานุปัสสนา หรือว่าจิตตานุปัสนา ตามใจชอบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เรื่องของการละ ต้องเป็นเรื่องของการรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทั่ว จึงจะละได้ ถ้าใครยังไม่พิจารณาเวทนา ก็อย่าคิดที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามรูป หมายความว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นจะตั้งรู้ลักษณะของนาม และรูปทั้งปวง รู้แจ้ง รู้จริง รู้ชัด รู้ทั่ว จึงจะละได้ ไม่ใช่ว่าให้เลือกรู้เพียงอย่างเดียว คือไม่ใช่ว่ารู้กายอย่างเดียว แล้วก็ไม่รู้อย่างอื่น ถ้าโดยลักษณะนั้นเเล้วก็ปัญญาไม่เจริญ จำกัดปัญญา เมื่อปัญญาไม่เจริญจะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ยังไง ที่เป็นสติปัฎฐานมีจริงเป็นไปได้ไหม ที่จะปรากฏเฉพาะลมหายใจอย่างเดียว ถ้าหลงลืมสติก็ไม่พิจารณารู้เวทนาที่ปรากฏ หลงลืมสติก็ไม่พิจารณารู้จิตที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ มีสัมปชัญญะ ก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติ อย่าลืมในหมวดของอานาปานสติ เริ่มต้นด้วยที่ว่ามีอานิสงส์มาก มีผลมาก ย่อมสำเหนียกรู้เวทนาคือปีติ สุข จิตตสังขาร ย่อมสำเหนียกรู้จิต หายใจออกเข้า เวลาที่จิตบันเทิง ตั้งมั่น หรือว่าเปลื้องจิต นั่นเป็นเรื่องของพิจารณาจิต
ดูกรอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่เที่ยงที่นี่ของขันธ์ ๕ ไม่จำกัดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย โดยสภาพของธรรม เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน หายใจออกหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละอานนท์ สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกได้ ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม ปรากฏได้ในขณะที่หายใจออกหายใจเข้า ถ้าสติมี แล้วก็รู้ลักษณะของนาม และรูป ไม่ผิด เพราะว่าไม่ใช่มีแต่ลมหายใจ จิตมี เวทนามี ธรรมอื่นก็มีปรากฏ เจตสิกอื่นที่เป็นธรรมชาติที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นมีปรากฏรู้ได้ก็ได้ แม้ว่าจะเนื่องกับลมหายใจ แต่ไม่ใช่รู้ลมอย่างเดียว
ข้อสำคัญก็คือว่า มีลักษณะของนามรูปปรากฎ แล้วไม่หลงลืมสติแล้วรู้ชัด ก็รู้ชัด ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม