วิบากจิต กับ อกุศลจิตต่างกัน


    ผู้ฟัง สำหรับในเรื่องอกุศลจิตตามที่ผมศึกษามา แม้กระทั่งว่าเราอยู่คนเดียวโดยปราศจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ภายนอก เกิดจากเหตุปัจจัยภายใน คือ ความคิด คือสังขารธรรม เกิดขึ้นจากความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แล้วก็ตั้งประเด็นออกมา แล้วก็ได้ผล ด้วยตัวเองว่า สิ่งเหล่านี้ที่เราคิดนี่มันถูกในความรู้สึกของเรา แต่นั่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดอยู่ คือ มีคนกล่าวว่า บางคนอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ประกอบกรรมชั่ว เพียงแค่นี้ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็พอแล้ว แต่ปรากฏว่าการเฉยๆ แต่ความคิดเบียดเบียนตัวเองให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ สิ่งเหล่านั้นเป็นความผิด ไม่ทำให้ยกตัวเองไปสู่ความเจริญได้ ปัญหาที่ผมจะเรียนถามนะครับ เมื่อกี้กล่าวถึง อกุศลจิตที่เรียกว่า อุปนิสสยปัจจัย ถ้าทำบ่อยๆ แล้วไม่มีวิบากกรรมเป็นผล แต่ว่ามันจะสะสมเป็นนิสัยไปในภพหน้า ชาติหน้าต่อไป ผมยกตัวอย่างเช่น คนที่พูดจาโดยปราศจากความระมัดระวัง อาจจะเป็นผมเอง มันเป็นวาสนา พูดไปๆ โดยปราศจากเจตนาแล้ว ผลกรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าไม่มี แต่ปรากฏว่าสังคมเขาไม่ยอมรับ เขาบอกว่า คนพูดนี่ปากไม่ค่อยดีนัก อันนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นวิบากอย่างหนึ่ง คือ พูดจาแม้ว่าเจตนาจะดี แต่สังคมเขาไม่ยอมรับภาษาที่พูดอย่างนี้ๆ ซึ่งมันเรื่องของวาสนา เราจะไม่เรียกอย่างนั้นว่าเป็นผลของวิบากหรือครับ

    ท่านอาจารย์ วิบากเป็นในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นั่นเป็นขณะที่เป็นวิบาก ส่วนความรู้สึกพอใจไม่พอใจ หรือคนอื่นจะกล่าวอย่างไร นำมาซึ่งสุขทุกข์อย่างไร นั่นไม่ใช่เรื่องของวิบาก วิบากเพียงชั่วขณะที่หูกระทบเสียง โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น


    หมายเลข 3236
    2 ส.ค. 2567