ประโยชน์ในการศึกษาเรื่องกรรม


    สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม มอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องกรรม เรื่องสติปัฏฐาน ก็ย่อมจะต้องได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม สิ่งใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น และถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น อย่างเจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียนทั้งหมดเป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดา หรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยเลยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นสัตว์ และเป็นอาหารที่ไม่บริโภค เหลือแล้ว ทิ้งแล้ว แต่ถ้ามีเจตนาที่เป็นกุศล รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นกุศลกรรม ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรม และเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น

    นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุ และขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เช่นในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา เพราะเหตุว่ากุศลธรรมก็เป็นแต่เพียงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมละเอียดขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือว่าเป็นวิบากของเรา แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่มีสภาพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่า เป็นของเราได้ บางคนคิดว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนั้นเป็นเราจริงๆ ที่กำลังคิด และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด แต่เมื่อมีเราคิด ก็ต้องมีผลของการกระทำของเราด้วย

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริงๆ จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ใช่ เพราะเหตุว่าขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก


    หมายเลข 3238
    2 ส.ค. 2567