แข็ง-รู้แข็ง กับการประจักษ์แจ้งการเกิดดับ


    ท่านอาจารย์ เราต้องค่อยๆ เข้าใจ สภาพธรรมขณะนี้เกิดใช่ไหม? จึงได้ปรากฏแล้วก็ดับด้วย ใครสามารถที่จะประจักษ์ได้ หรือว่าไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์ได้เลย ต้องถึงตรงนี้ก่อน มีไหม? การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เป็นไปได้ไหม?

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อสภาพธรรมความจริงเป็นอย่างนี้ จะรู้ความจริงนี้ได้ไหม? ในเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ผู้ที่รู้แล้วมีไหม? (มี) แต่ต้องเป็นปัญญาใช่ไหม? (ใช่) ต้องเป็นปัญญา (ต้องรอด้วย) หมายความว่าต้องถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ได้ ต้องเป็นปัญญา เวลานี้เเม้ความเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ หรือจะไม่ใช้คำอะไรเลยก็ได้ แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ให้เราได้ฟัง ฟังแล้ว ฟังอีก ว่าสิ่งนี้เกิดแล้วดับ เพราะว่าถ้าเข้าใจว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับ คุณเด่นพงศ์ลองหาสิว่าสภาพธรรมไหนเกิด แล้วก็สภาพธรรมไหนดับ ถ้าคุณเด่นพงศ์บอกว่าแข็งไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ความรู้อะไรเลย ก็ต้องย้อนมาคิดว่าแข็งเกิดหรือเปล่า แล้วแข็งดับหรือเปล่า สภาพที่รู้แข็งเกิดหรือเปล่า สภาพที่รู้แข็งดับหรือเปล่า อันนี้ต้องตรงก่อน

    ผู้ฟัง ตรงที่อาจารย์กำลังพูด ผมกำลังทำตามว่าแข็งมันเกิดไหม?มันดับไหม?

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่ให้ทำ ให้ฟัง ให้ฟังก่อน

    ผู้ฟัง ก็ฟังแล้ว ผมก็ว่าผมรู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ยังค่ะ รู้ก็รู้แต่รู้ยังไม่ถึงจุดนี้ที่ว่า ที่ว่าขณะนี้แข็งกำลังที่ปรากฏ เกิด-ดับหรือเปล่า? (เกิดดับ) แต่ปัญญายังไม่สามารถประจักษ์แจ้ง ถูกต้องไหม? (ถูกต้อง) เราต้องยอมรับความจริงทุกอย่าง เพื่อที่จะได้อบรมปัญญา ให้สามารถถึงการประจักษ์แจ้งได้ ถ้าจะประจักษ์แจ้งการเกิด-ดับ ในขณะนี้ คุณเด่นพงศ์คิดว่าจะประจักษ์แจ้งการเกิด-ดับของอะไร? (สภาพธรรม) ทุกอย่างขณะนี้เป็นสภาพธรรม (ของรูปของนาม) ของเห็นหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือแข็งหรือรู้แข็ง ก็เป็นปกติอย่างนี้เอง หมายความว่าจะไปประจักษ์การเกิด-ดับของสิ่งอื่นไม่ได้ ต้องประจักษ์การเกิด-ดับของสิ่งนี้ แต่เมื่อยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นธรรม แต่มีความเป็นเราที่ยังไม่รู้เลย เพียงแต่ฟัง แข็งเป็นธรรม รู้แข็งเป็นธรรม แต่ว่าลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเลยของแข็ง และรู้แข็งคืออย่างไร ถ้าไม่อาศัยการที่เวลาแข็งปรากฏ แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เมื่อไหร่จะประจักษ์การเกิด-ดับของแข็ง หรือสภาพที่รู้แข็ง เพราะถึงยังไงถ้าจะประจักษ์การเกิด-ดับ ก็ไม่พ้นจากการประจักษ์การเกิด-ดับของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อ ทำให้ไม่สามารถประจักษ์ จนกว่าสติคือการระลึกได้ ใช้คำว่าระลึกได้ แต่ความจริงก็คือเมื่อมีลักษณะใดปรากฏ ก็รู้ตรงลักษณะนั้น เป็นปกติธรรมดา ครั้งแรกความรู้จะไม่ชัดเจนเลย เพราะเหตุว่าเหมือนธรรมดา แต่ถ้าบ่อยๆ ขึ้น พอระลึกอีกรู้อีก ลักษณะนั้นก็จะรู้ว่าลักษณะนั้นที่เป็นลักษณะแข็ง ต่างกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง เพราะฉะนั้นกำหนดเวลาไม่ได้เลย ว่าจะกี่สิบปี แต่ว่าเป็นความตรงที่ว่ามีความค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นไหม หรือแม้แต่กำลังเห็นในขณะนี้ ยังไม่ได้มีความเข้าใจในลักษณะการเกิด-ดับของเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้าจะประจักษ์ก็ต้องประจักษ์การเกิด-ดับของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว ถึงสามารถที่จะประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ความห่างไกลของขณะที่ปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิด แต่ก็ต้อง อบรมค่อยๆ เข้าใจขึ้น สภาพธรรมก็ปรากฏเพียง ๖ ทาง แล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้น วันหนึ่งก็ประจักษ์ได้

    ผู้ฟัง เคยได้ยินคำว่าธรรมวิจยะ หรือ ธรรมวิจัย เราจะไปใช้คำนี้ตรงไหนถ้าอย่างนั้น ถ้าไม่วิจัย วิเคราะห์ ว่ามันแข็ง มันอ่อน มันเดิน มันไหว อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ง่าย อย่างที่เราคิดว่าเราอ่านได้ เหมือนคนซึ่งไม่ได้ศึกษามาเลยก็เปิดตำราแพทย์ แล้วก็อ่านออกหมด แต่ว่าเข้าใจได้ไหม เพราะฉะนั้นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นธรรมฝ่ายที่จะตรัสรู้ ซึ่งทั้งหมดก็เริ่มตั้งแต่สติปัฏฐาน สัมปทาน อิทธิบาท พวกนี้ต้องมีทั้งหมด กว่าจะถึงธรรม วิจยสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จะรู้ในความไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรม แม้ความคิดก็เป็นธรรมด้วย ซึ่งต่างกับการเห็น และการได้ยิน เพราะฉะนั้นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อผู้นั้นอบรมจนกระทั่งมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมทั่วหมด ไม่มีเราแต่ว่าเป็นธรรมได้เป็นสตินั่นเองที่กำลังรู้ลักษณะที่ต่างกันอย่างยิ่ง ของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นเราไปนั่งคิดเอา ว่านี่เป็นจิต นั่นเป็นเจตสิก นี่เป็นขันธ์ นั่นเป็นอายตนะ นั่นไม่ใช่ แต่ว่าต้องพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ซึ่งขณะนั้นมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นปัญญาที่ไม่ผิด สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น โดยความต่างกัน ของธรรมนั้นๆ แต่ไม่ใช่หมายความว่ามีความเป็นเราที่เป็นนั่งคิดเรื่องราว พอได้ยินคำว่าวิจยะ ก็เอาภาษาไทยมาใส่ วิจัย วิพากษ์ วิจารณ์ ก็เลยคิดยาว แต่ความจริงไม่ใช่เลย ทั้งหมดต้องพร้อมกันต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน สัมปทาน อิทธิบาท แล้วก็ อินทรีย์ พละ พวกนี้ จนกระทั่งที่จะสามารถประจักษ์การเกิด-ดับของสภาพธรรมไม่ผิด แต่ไม่ใช่การวิจารณ์

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์


    หมายเลข 3286
    4 ก.ย. 2567