อนุขณะของจิต - วิถีจิต - วาระของจิต
อ.อรรณนพ ขณะก็คือจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มี อนุขณะย่อย ๓ ขณะ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือ อุปาทะ เกิดขึ้น ฐีติ ตั้งอยู่ และ ภังคะ ดับไป เพราะฉะนั้นแต่ละขณะจิต ซึ่งประกอบด้วย ๓ อนุขณะย่อย นี่คือหนึ่งขณะ สำหรับวิถี จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ก็คือขณะที่ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติ แต่จิตก็ต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ เมื่อมีโอกาสหรือมีเหตุปัจจัย ซึ่งวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิถีจิต
ซึ่งวิถีจิตทางตา เป็นต้น ก็มีแต่ละวิถี คือ วิถีแรก ก็คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีแรก วิถีต่อมา ก็คือ จิตเห็น หรือ จิตได้ยิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย นั่นเป็น อาวัชชนวิถี วิถีต่อมาก็เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์รับผลของกรรม คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส หรือจิตกระทบสัมผัส เป็นอีกหนึ่งวิถี มีจิตเพียงหนึ่งขณะ เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากเพียงขณะเดียว ขณะต่อไปก็เป็น สัมปฏิจฉันนะ เป็นวิบากที่รับอารมณ์เดียวกัน วิถีต่อไปก็เป็น สันตีรณะ ขณะที่สันตีรณะจิตเกิดขึ้น ก็เป็นอีกวิถีหนึ่ง วิถีต่อไปก็คือ โวฏฐัพพนจิต วิถีต่อไปหลังจากโวฏฐัพพนจิตซึ่งเกิดขึ้นกระทำทางให้ ชวนจิต เกิดสืบต่อตามการสะสม วิถีต่อไปเป็นวิถีที่สำคัญ ซึ่งเราสนทนากันตั้งแต่คราวที่แล้ว ก็คือ ชวนวิถี โดยปกติแล้วจะมี จิต เกิด ๗ ขณะ เป็นชวนวิถี ถ้ารูปซึ่งเป็นอารมณ์นั้น เช่น สี หรือรูปารมณ์ยังไม่ดับไป ก็เป็นโอกาสให้วิถีจิตต่อไป ซึ่งเป็นวิถีที่ ๗ ถ้าเราจะนับตั้งแต่อาวัชชนวิถีมา ถึงชวนวิถีก็เป็น ๖ วิถี วิถีที่ ๗ ก็คือ ตทาลัมพนวิถี ซึ่งเป็นเพียงวิบากจิตที่เกิดต่อ เมื่อรูปเป็นอารมณ์นั้นยังไม่ดับไป
เพราะฉะนั้นจิตทั้งหมดจะมีวิถีจิตทางตา จะมี ๗ วิถี ส่วนคำว่า วาระ แล้วแต่ว่า วิถีจิตจะสิ้นสุดที่วิถีใด ถ้าวิถีจิตสิ้นสุดที่ตทาลัมพนวิถี วิถีนั้นเราก็เรียกว่าตทาลัมพนวาระ คือจิตเกิดครบวิถี เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บางครั้งรูปที่เป็นอารมณ์นั้น หรือรูปที่เป็นทวาร คือจักขุปสาท ซึ่งเป็นจักขุทวาร แล้วรูปารมณ์ หรือสี ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตที่รู้อารมณ์ทางตาทั้งหมดทุกวิถี ไม่เพียงพอที่จะทำให้ตทาลัมพนจิตเกิด วิถีนั้นก็สิ้นสุดที่ชวนวิถี วิถีนั้นก็เรียกว่าชวนวาระ คือวาระนั้นสิ้นสุดที่ชวนะ แต่บางครั้งรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทะ มากขนาดมีภวังค์เกิดขึ้น อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ หลายขณะ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นอารมณ์ของจิตครบชวนวิถี วิถีนั้นก็จะไม่มีชวนวิถี จะสิ้นสุดที่โวฏฐัพพนะ วิถีนั้นก็คือโวฏฐัพพนวาระ แต่ถ้าการกระทบกันของสีกับจักขุปสาทะ เป็นต้น กระทบกันนานกว่านั้น คือ ภวังคจลนะเกิดติดต่อกันยาว จนกระทั่งไม่เพียงพอให้วิถีจิตเกิดขึ้น วิถีจิตก็ไม่เกิดขึ้นเลย เป็นเพียงแค่สีกระทบกับจักขุปสาทะ แล้วไม่เกิดวิถีจิตใดเลย นั่นก็คือโมฆวาระ ถ้าจิตเกิดถึงตทาลัมพนวาระ คือชวนวาระแล้วก็ถึงตทาลัมพนวาระ หรือว่าเป็นเพียงแค่ชวนวาระ แล้วภวังค์ก็เกิด วิถีจิตทางมโนทวารก็เกิดได้ แต่ถ้าไม่ถึงตทาลัมพนวาระ เป็นเพียงโวฏฐัพพนวาระ ก็ไม่มีชวนจิตเกิดขึ้น ถ้าวิถีจิตสิ้นสุดที่โวฏฐัพพนวาระ ไม่มีชวนะที่เกิด ก็ถึงวิถีจิตทางมโนทวาร ซึ่งมโนทวารวิถีแรก ชวนะจะต้องเหมือนกับชวนะทางปัญจทวารเหมือนนกกับเงานก แต่ในเมื่อไม่มีตัวนกเสียแล้ว จะเอาเงานกมาจากไหน