กุศลจิต กับ โสภณจิต


    คุณอุไรวรรณ กุศลจิต และ โสภณจิต แตกต่างกันอย่างไร

    อ.วิชัย กุศลจิต หมายถึงเป็นจิตที่ดีงาม ฉลาด เป็นสภาพที่ละหรือตัดอกุศลธรรม แต่ โสภณจิต จะกว้างกว่า เพราะหมายถึง เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้ง ๓ ชาติ กุศลจิตเป็นกุศลชาติเท่านั้น แต่โสภณจิต หมายถึงเป็นจิตที่ดีงาม สามารถเป็นทั้งกุศล เป็นโสภณจิต หรือวิบากจิตที่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต หรือกิริยาจิตที่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโสภณจิต ดังนั้นโสภณจิต ก็จะเป็นทั้ง ๓ ชาติ ส่วนกุศลจิตเป็นกุศลชาติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโสภณจิตก็มีความหมายที่กว้างกว่ากุศลจิต

    อ.สมพร กุศลจิต ได้แก่ จิตที่ดีงาม ส่วนโสภณจิต เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ถ้ามีโสภณแล้วจะต้องเป็นกุศลอย่างเดียว เป็นอกุศลไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ กุศลจิต หมายถึงจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นชาติกุศล จิตนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่คำว่าโสภณจิต หมายถึงจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย โสภณหมายถึงธรรมที่ดีงาม จิตที่ประกอบด้วยโสภณเกิดร่วมด้วย คือโสภณจิต สามารถที่จะเป็นจิตชาติกุศลก็ได้ จิตชาติกิริยาก็ได้ หรือวิบากซึ่งเป็นโสภณ เป็นวิบากฝ่ายดี

    อ.กุลวิไล โสภณ ความหมายคือดีงาม โสภณจิต คือจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งจะรวมทั้งกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต สำหรับโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต มีถึง ๒๕ ประเภท เริ่มตั้งแต่ สติ ศรัทธา เจตสิก ซึ่งเจตสิกเหล่านี้เป็นเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิก ซึ่งโสภณเจตสิกเมื่อเกิดกับจิตเเล้ว จิตนั้นเป็นโสภณจิต ซึ่งเป็นจิต ๓ ชาติ คือกุศลจิต วิบากจิต และ กิริยาจิต

    อ.ธีรพันธ์ กุศลจิต ก็คือ จิตที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุที่เป็นฝ่ายโสภณ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อย่างน้อยต้องมี ๒ เหตุ ที่เป็นอโลภะหรืออโทสะเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นกุศลชาติก็จะต้องเป็นกุศลจิต เป็นกุศลธรรมคือสภาพธรรมที่ตัดรอนบาปธรรม เป็นฝ่ายกุศลชาติ แต่ถ้าเป็นโสภณจะมีความหมายที่กว้างมาก เพราะธรรมที่ดีงามไม่ได้เจาะจงเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิตอย่างเดียว เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีอโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ๓ เหตุ เป็นได้ทั้งกุศลชาติ และวิบากชาติ วิบากชาติจะมีอย่างน้อยที่เป็นอโลภเหตุ อโทสเหตุ หรือถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็จะมีอโมหเหตุ เป็นสภาพที่ดีงาม ส่วนกิริยาจิตก็เป็นสภาพธรรมที่มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย ก็คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ที่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่าสภาพธรรมที่ดีงาม จะไม่ได้หมายถึงเจาะจงสภาพธรรมที่เป็นกุศลอย่างเดียว จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลชาติ วิบากชาติ กริยาชาติ ด้วย ที่มีเหตุทั้ง ๓ เหตุเกิดร่วมด้วย

    อ.อรรณพ เพิ่มเติมโดยการทบทวนด้วย ซึ่งเราได้ศึกษาเรื่องจิต ก็จำแนกโดยหลายนัยยะ โดยชาติ โดยภูมิ สุดท้ายก็กล่าวถึงเรื่องสเหตกจิต หรือ อเหตุกจิต ซึ่งจิตก็ยังจำแนกได้อีกนัยยะหนึ่ง ก็คือโสภณจิต และอโสภณจิต โสภณจิตก็คือจิตที่มีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธาเจตสิก เป็นต้น ส่วนจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เช่น ไม่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย จิตนั้นเป็นอโสภณจิต ซึ่งอโสภณจิต ก็ได้แก่ อกุศลจิต กลุ่มหนึ่ง คืออกุศลจิต ซึ่งประกอบด้วยอกุศลเหตุ ซึ่งอกุศลจิตจะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งของอโสภณจิต ก็คือ อเหตุกจิตที่ศึกษาไปแล้ว ทั้ง ๑๘ ดวง เพราะฉะนั้นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง และอกุศล ๑๒ ดวง รวมเป็น ๓๐ ดวงนี้ เป็นอโสภณจิต ส่วนจิตที่เหลือทั้งหมดจะเป็นโสภณจิต ซึ่งจะเป็นชาติใด ภูมิใด ก็แล้วแต่ระดับของภูมิจิต ที่เป็นโสภณจิตนั้น หรือว่าเป็นชาติใด เป็นกุศลชาติก็มี วิบากชาติก็มี หรือกิริยาชาติก็มี ก็เป็นอีกนัยยะหนึ่งของการจำแนกจิต

    ท่านอาจารย์ โดยชื่อต่างกัน ความหมายก็ต้องต่างกันด้วย กุศลจิตกับโสภณจิต โสภณ หมายความถึง จิตที่ดีงาม ซึ่งมีโสภณเจตสิก เจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย ไม่เจาะจงชาติเลย เพราะเมื่อกล่าวว่าโสภณจิต เมื่อกล่าวว่าโสภณจิต ก็คือจิตที่มีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเท่านั้น แต่พอกล่าวว่ากุศลจิต พูดถึงชาติแล้ว เป็นชาติกุศล เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ สำหรับโสภณที่งาม เป็นกุศลก็ต้องงามแน่ เป็นอกุศลเป็นโสภณหรือเปล่า อกุศลจิตเป็นโสภณจิตรึเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นอกุศลจิตเป็นอโสภณจิต สำหรับกุศลจิตที่เป็นอโสภณมีไหม กุศลจิตที่เป็นอโสภณ ที่ไม่งาม กุศลจิตที่ไม่งามมีไหม ไม่มี กุศลจิตแล้วก็ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเมื่อใช้คำว่าโสภณที่งาม ไม่ได้เจาะจงชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งโสภณจิต ที่เป็นกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกริยา แต่เป็นอกุศลไม่ได้ และสำหรับกุศล ก็ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นโสภณที่เป็นเหตุ ที่จะให้เกิดผล นี่คือความต่างกัน เป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ซึ่งจิตที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล จิตกุศลที่เป็นเหตุให้เกิดผล จะให้ผล ๒ อย่าง คือให้ผลเป็นวิบากที่เป็นโสภณ กับวิบากที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เราได้เรียนไปแล้วทั้งหมด คืออเหตุกะ ๑๘ ก็จะมีกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม แต่ว่ากุศลกรรมก็ให้ผลต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือให้ผลเป็น อเหตุกะ ไม่มีเหตุที่ดีหรือไม่ดีเกิดร่วมด้วยเลย และไม่มีโสภณเหตุ ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังให้ผลเป็นกุศลวิบากที่เป็นโสภณด้วย นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลกรรมที่ทำแล้ว จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากเท่านั้น จะไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นโสภณได้เลย แต่สำหรับกุศลกรรม ให้ผลเป็นอโสภณวิบาก และโสภณวิบาก ที่นี้คงแปลกใจ ให้ผลเป็น อโสภณวิบาก คิดออกไหม กุศลกรรมให้ผลเป็นอโสภณวิบาก คือให้ผลเป็นกุศลวิบากอเหตุกะ ซึ่งไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับอโสภณจิต จะมี ๓๐ ดวง คืออกุศลจิตเป็น อโสภณ และอเหตุก ๑๘ ก็เป็นอโสภณ เพราะทั้ง ๓๐ ประเภทนี้ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นความต่างกัน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจชัดเจนว่า สำหรับ โสภณ เป็นได้ทั้ง กุศล วิบาก กิริยา และสำหรับ กุศล ก็เป็น โสภณชาติ ที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา


    หมายเลข 3295
    31 ต.ค. 2567