ลมหายใจออก-เข้า กับ ฌาน
ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ภาค ๒ ทีปสูตร มีข้อความว่า
อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสติที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีข้อความต่อไปว่า
ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
ผู้ที่จะบรรลุปฐมฌานต้องมีสติสมบูรณ์พร้อมด้วยสัมปชัญญะ ถึงจะบรรลุปฐมฌานได้ ถ้าเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยจตุกนัย ต้องเป็นผู้มีสติระลึกรู้ที่ลมหายใจจนกระทั่งจิตสงบขึ้นๆ เป็นฌานที่สูงขึ้น
ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌาน
ผู้ที่สามารถเจริญรูปฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้วทิ้งนิมิต คือ รูป ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต แต่ใส่ใจในอากาศ จนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอากาสานัญจายตนฌานได้ จะต้องเป็นผู้มีวสี มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง รู้เรื่องของการที่จะเจริญสมาธิในขั้นสงบประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่สามารถในการเจริญสติ ในการเจริญสมาธิแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถึงขั้นที่จะบรรลุอรูปฌานได้
ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้นจะต้องบรรลุจตุตถฌานเสียก่อน ซึ่งเป็นฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วทิ้งรูปนิมิต ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต จึงจะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นคงในอรูปกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์สามารถที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจได้จนกระทั่งถึงจตุตถฌาน ย่อมพึงหวังว่าเราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยการที่มนสิการอานาปานสติเป็นเบื้องต้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี
สำหรับสัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันตบุคคลที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว สามารถที่จะระงับดับจิต และเจตสิกได้ในระหว่างที่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ จิต เจตสิกไม่เกิดเลย และรูปซึ่งเกิดจากจิตก็ไม่เกิดด้วย เพราะเป็นผู้ที่เห็นว่า การที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพียงเห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินเสียงแล้วก็หมดไป ได้กลิ่นแล้วก็หมดไป ได้รสแล้วก็หมดไป คิดนึกสิ่งต่างๆ แล้วก็หมดไป ถึงแม้ว่าจะเป็นความสงบของสมาธิก็ไม่เที่ยง ความสงบที่เป็นสมาธิ เกิดแล้วก็ดับไปๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดเลย ย่อมจะเป็นการสงบระงับอย่างยิ่ง แม้ในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้ก็ตาม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะดับจิต เจตสิกได้ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ก็มีแต่เฉพาะบุคคลที่เป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ผู้ที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วเท่านั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเธอเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก
ในพระสูตรทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจริญสมาธิ แต่ว่าจะไม่สิ้นสุดลง ด้วยพยัญชนะที่เป็นเรื่องของสมาธิเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเรื่องของการรู้ความจริงเป็นอริยสัจธรรม