มัวเรียนปริยัติ ชนะคนที่ไปปฏิบัติได้หรือไม่
ผู้ฟัง ดิฉันได้เรียนก็เรียกว่า เรียนปริยัติมาแล้วบ้าง เรียนแล้วก็รู้ว่า ควรต้องละเอียดแค่ไหน แต่ทำไมถึงง่ายเหลือเกิน คนที่เข้าป่าไปนั่งตรงนั้นตรงนี้ ต้องได้แค่วิตกวิจาร ทำไมง่ายเหลือเกิน ตรงนี้ที่เอาชนะคนที่นั่งไม่ได้ ไม่มีปัญญาไปโต้ตอบกับเขา
ท่านอาจารย์ บางคนศึกษาอภิธรรม แต่จุดประสงค์ต่างกัน เรียนเพื่ออะไร บางคนเรียนแบบประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร ถ้าบอกจำนวนอย่างนี้ เข้าใจว่าศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือศึกษาเรื่องชื่อ เรื่องราวเหมือนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องลืม พระไตรปิฎกมากมาย คนที่สามารถท่องก็ท่อง คิดว่าความสามารถอยู่ที่ท่อง แต่ความจริงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ผู้ฟังเข้าใจแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้ไปท่องอะไรเลย อยู่ที่ความเข้าใจของผู้ฟังที่จะเห็นประโยชน์ว่า การสะสมการฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อวันหนึ่งเมื่อฟังแล้วสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติได้ ถึงระดับที่คนฟังอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจมากๆ แม้แต่คำว่า “ธรรม” ก็ต้องรู้ว่า หมายความว่า สิ่งที่มีจริงๆ ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” มาจากคำว่า “ธาตุ” เหมือนกัน ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” หมายความว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย พอพูดถึงดินเปล่าๆ ไม่ใช่ตัวเราที่แข็ง ดินก็ดิน ไฟก็คือไฟ น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แต่ทำไมที่นี่ มากลายเป็นของเรา อ่อนหรือแข็งที่นี่ เย็นหรือร้อนเป็นของเรา ตึงหรือไหวมาเป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ามากลายเป็นของเรา ด้วยความไม่รู้
เพราะฉะนั้น จึงอาศัยการฟังโดยละเอียดจริงๆ เพื่อทราบว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว อันนี้จะเป็นหนทางที่ทำให้สัมมาสติเกิด เป็นหนทางเดียวที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสัมมาสติระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังปรากฏ ที่ก่อนฟังไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เราต้องทำ ไม่ใช่ แต่เรียนธรรมเพื่ออะไร เพื่อสอบ ก็ไม่ใช่ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เรียนแล้วกิเลสหมด เพียงแค่นี้กิเลสหมดไม่ได้เลย ยิ่งเรียนยิ่งเห็นว่า กว่ากิเลสจะหมดไปได้นาน แล้วจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง การรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่ขั้นแรกเป็นพระอรหันต์ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิด คิดว่าพอเรียนธรรมแล้วหมดโกรธ หมดโลภ หมดหลง บางคนก็คิดว่า เรียนธรรมแล้วทำไมยังโกรธ ทำไมยังโลภ นั่นคือเขาไม่เข้าใจเลยว่า กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องสะสมปัญญาไปมากมายหลายขั้นตามลำดับ
วันนี้ที่ฟัง มีความรู้จากสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยเท่านั้น ไม่ใช่ดับกิเลส ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย และยิ่งเรียนยิ่งรู้ว่า กว่าจะดับกิเลสได้แสนยาก แต่เริ่มจะรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ให้เข้าใจขึ้น และเป็นผู้ตรง คือว่า ความโกรธเป็นใคร เป็นของใคร ลักษณะของความโกรธคือ ความรู้สึกไม่แช่มชื่นเลย เป็นทุกข์เวลาที่เกิดความโกรธ ไม่ว่าเป็นใครอยู่ตรงไหนทั้งนั้น เวลาโกรธจะเป็นสุขไปไม่ได้ แล้วเวลาที่โกรธหมดไป ความรู้สึกเฉยๆ ก็มี หรือความรู้สึกดีใจก็มี
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เวลาที่เรียนทางโลก เราจะรู้ว่า หลายสิ่งหลายอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่นั่นยังง่าย ตามความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ ในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้ลอยๆ ต้องมีเหตุปัจจัยอย่างละเอียดมากที่จะทำให้เกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นแสนสั้นแล้วดับ อันนี้ใครรู้ ไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าไม่ประจักษ์ความจริง ซึ่งกว่าจะประจักษ์ ไม่ใช่บุคคลนั้นไม่มีความรู้เลย พระโสดาบันเพียงละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เที่ยง อย่างที่เคยเข้าใจมาก่อน แต่สามารถเข้าใจความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม มีเหตุปัจจัยแล้วดับไป แล้วสามารถรู้ลักษณะของพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่หมดกิเลส แต่ผู้นั้นเป็นผู้ตรง พระโสดาบันรู้ว่า ท่านไม่ใช่พระสกทาคามี ท่านไม่ใช่พระอนาคามี ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แสดงว่ากิเลสมีมากที่จะต้องอาศัยปัญญาเพิ่มขึ้นอีก ถึงจะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีความเห็นผิด แต่ยังมีโลภะ ก็ยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อาหารก็อร่อย ทางตา ทุกอย่างก็สวย ทางหูก็เสียงเพราะ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนคนธรรมดา แต่เขาไม่ทุจริต ไม่ล่วงศีล ๕ เพราะเหตุว่าเมื่อได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เจตนาที่จะเบียดเบียนไม่มี ที่จะทำทุจริตไม่มีเลย แล้วอย่างนี้โลกจะเจริญไหม ในเมื่อเขาจะเรียนวิชาอะไรก็ได้ เขาจะทำอะไรก็ได้ทั้งหมด แม้แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ยังคงเป็นพระเจ้าพิมพิสาร มหาเสนาบดีของเมืองเวสาลีเป็นพระโสดาบัน ก็ยังคงทำหน้าที่มหาเสนาบดี แต่ไม่มีการทุจริต
เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามศึกษาธรรมเข้าใจขึ้น ความเบียดเบียนคนอื่นจะน้อยลง ความเห็นแก่ตัวก็น้อยลง โลกจะเจริญขึ้นอีกมาก