กกจูปมสูตร ๒


    กกจูปมสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่พระนครสาวัตถีนี้แหละ มีแม่เรือนคนหนึ่ง ชื่อเวเทหิกา มีกิตติศัพท์ขจรไป ว่าเป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยนเรียบร้อย แม่เรือนเวเทหิกามีทาสี ชื่อกาลี เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี

    นางกาลีได้คิดว่า นายของตนนั้นไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ หรือว่าไม่มีความโกรธอยู่เลย เพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี เพราะฉะนั้น ด้วยความสงสัย นางกาลีทาสีแกล้งลุกขึ้นสาย ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็โกรธ ขัดใจ ทำหน้าบึ้ง ดุว่านางกาลี นางกาลีก็รู้ว่า ที่แม่เรือนเวเทหิกาไม่แสดงความโกรธนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีความโกรธ แต่เป็นเพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี

    ซึ่งนางกาลีก็ใคร่ที่จะทดลองนายหญิงของตนให้ยิ่งขึ้นไป ถัดจากวันนั้นมา ก็ลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็ได้แสดงความโกรธออกมาให้ปรากฏยิ่งขึ้น จนกระทั่งกิตติศัพท์อันชั่วขจรไปว่า แม่เรือนเวเทหิกาเป็นคนดุร้าย ไม่อ่อนโยนไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนอ่อนโยนจัด เป็นคนเรียบร้อยจัดได้ ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็เมื่อใดกระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง

    นี่ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่อุปการะแก่พระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ในพระนครสาวัตถีเลย แต่ทำไมตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ก็เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า

    บุคคลที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นคนที่อ่อนโยนเรียบร้อยนั้น เป็นเพราะเหตุว่า ยังไม่มีสิ่งที่ไม่น่าพอใจมากระทบ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นที่พอใจ เป็นต้นว่า ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็ไม่เป็นคนสงบเสงี่ยม ไม่เป็นคนอ่อนโยน ไม่เป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าถ้าผู้ใดเป็นคนที่ถึงแม้กระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่น่าพอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง

    พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ว่าเป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะ เคารพนอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย

    คือว่าง่ายในพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่าเป็นคนว่าง่ายดังนี้

    เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจะเป็นผู้สักการะ เคารพ นอบน้อมพระธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย ดังนี้

    ความเป็นคนว่าง่าย ไม่ใช่เพียงเวลาที่ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนั้น ไม่ใช่ถึงความเป็นคนว่าง่าย ถ้าเป็นภิกษุ ก็เพราะเหตุว่าได้จีวร ได้บิณฑบาต ได้เสนาสนะ แต่ว่าผู้ใดมาเคารพ สักการะ นอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนี้

    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทควรจะตรวจสอบถึงความเป็นบุคคลผู้ว่าง่ายของท่านเองด้วยว่า ว่าง่ายในขั้นไหน ในขั้นที่ยังไม่ได้กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าง่ายแม้ในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าสิ่งใดก็ตามที่มีอยู่ในพระธรรมวินัย ท่านควรจะว่าง่ายในลักษณะใด ควรจะเป็นผู้ที่สอบทาน ศึกษา พิจารณา เทียบเคียงให้ถูกต้อง ไม่ถือความเห็นของตน หรือหมู่คณะเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าบางท่านต้องการให้ตนเป็นที่รัก ต้องการให้หมู่คณะเป็นที่รัก หรือต้องการให้ตนเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้คำนึงถึงพระธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วพระธรรมต้องเป็นใหญ่ แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นที่รักของบุคคลใด หมู่คณะใดก็ตาม แต่ว่าการศึกษาการแสดงธรรมนั้นควรให้ถูกต้องตรงตามพระธรรม ไม่ใช่คิดถึงตนหรือหมู่คณะเป็นใหญ่


    หมายเลข 3347
    19 ก.ย. 2566