วิสาขาสูตร ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็มีทุกข์


    ขุททกนิกาย อุทาน วิสาขาสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ เรื่อยไปจนกระทั่ง ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ ย่อมไม่มี

    เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้นผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักในโลกไหนๆ

    อยากมีความทุกข์ไหม ไม่อยาก ต้องทำอย่างไร ก็ต้องไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสังขารที่เป็นที่รัก ไม่มีสัตว์เป็นที่รักเลย รู้สึกอย่างไร ว้าเหว่หรือว่าสบาย ยังต้องการสังขารซึ่งเป็นที่รัก สัตว์ซึ่งเป็นที่รัก แต่ไม่ต้องการทุกข์ ไม่ต้องการโศก

    การที่จะต้องประสบกับความเสื่อมญาติ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะญาติเป็นที่รัก มิตรสหายเป็นที่รัก ผู้มีคุณเป็นที่เคารพนับถือ เพราะฉะนั้น เมื่อจะต้องพลัดพรากจากไป ก็เป็นทุกข์ใหญ่ แต่ข้อความในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญา ชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    เวลานี้ท่านผู้ฟังคิดว่า ความเสื่อมอะไรร้ายกว่ากัน ความเสื่อมญาติ หรือว่าความเสื่อมปัญญา ท่านคิดว่า ความเสื่อมญาติเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องร้ายแรง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    กลัวไหม เสื่อมปัญญา เห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด รู้ผิด พ้นผิด เป็นเรื่องของการเสื่อมปัญญาทั้งนั้น แต่บางท่านไม่เห็นภัย ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นอันตราย ถ้าเป็นความรู้ผิด ก็ทำให้ไม่สามารถละกิเลสได้อย่างแท้จริง เป็นความพ้นผิด เป็นการเสื่อมปัญญา

    การเสื่อมญาติ ก็เป็นสำหรับภพนี้ ชาตินี้เท่านั้น แต่การเสื่อมปัญญา จะทำให้ท่านเกิดในที่อื่น ในอบายภูมิ ในทุคติ ซึ่งเป็นการตัดรอนไม่ให้ปัญญาเจริญที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้ เพราะท่านมีความเสื่อมปัญญา มีความเห็นผิดไปเสียแล้วในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 217

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า ความเจริญจริงๆ คือ ความเจริญด้วยปัญญา แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรอง ก็ย่อมมีความเห็นว่า ความเจริญด้วยญาติ มีญาติมาก เป็นประโยชน์เกื้อกูลมาก ท่านคิดว่า ถ้ามีญาติจะมีผู้เกื้อกูลซึ่งกัน และกันในคราวจำเป็น แต่ว่าความเจริญจริงๆ นั้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีญาติมาก แต่ถ้าท่านไม่เจริญด้วยปัญญาแล้ว ไม่ชื่อว่า เป็นความเจริญที่เลิศ ข้อความนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    เป็นการเจริญสติปัฏฐานไหม หรือจะแยกไว้ต่างหากอีก ถ้าท่านเป็นผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นได้ว่า ไม่มีพระธรรมข้อใดที่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐานเลย แม้แต่ข้อความที่ว่า ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพื่อให้ท่านผู้ฟังเจริญสติปัฏฐาน เพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องเดียวกันที่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ และไม่เป็นผู้ที่หลงลืมสติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    ถ้าท่านมีสมบัติ และสมบัตินั้นหมดไป รู้สึกเดือดร้อนมาก เป็นผู้ที่ไร้สมบัติเสียแล้ว แต่ตราบใดที่ท่านเป็นผู้ที่เจริญด้วยปัญญา ย่อมดีกว่าการที่ท่านจะยังคงมีทรัพย์สมบัติมาก แต่ว่าเป็นผู้ที่ไร้ปัญญา หรือว่าเป็นผู้ที่เสื่อมจากปัญญา ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า การเสื่อมอย่างไหนเป็นการเสื่อมที่ชั่วร้ายที่สุด

    การที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข ได้โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัตินั้น เป็นผลที่มาจากเหตุที่ได้กระทำแล้ว การที่จะเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ก็ต้องเป็นผลที่มาจากเหตุที่ได้กระทำแล้วเช่นกัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ผลก็ย่อมมี ทั้งได้ลาภ ทั้งเสื่อมลาภ ทั้งได้ยศ ทั้งเสื่อมยศ ทั้งได้สรรเสริญ ทั้งได้นินทา ทั้งได้สุข ได้ทุกข์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยโภคะมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมยศมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    ทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควรระลึกถึงว่าเป็นความสำคัญ เพื่อเกื้อกูลแก่ปัญญาของท่านให้เจริญยิ่งขึ้น ซึ่งไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 218


    หมายเลข 3349
    30 พ.ย. 2567