ปรมัตถธรรม ๔ กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย


    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เมื่อกล่าวโดยนัยของจิตปรมัตถ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ๘๔ ดวง เว้นจิต ๕ ดวงคือ เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และเว้นทุกขกายวิญญาณจิต ๑ ดวง

    ถ้ากล่าวโดยนัยของเจตสิกปรมัตถ์ เว้นเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต และโมหมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ถ้ากล่าวโดยนัยของรูปปรมัตถ์ รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของเฉพาะโลภมูลจิต

    ถ้ากล่าวโดยนัยของนิพพาน นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ที่หนักแน่นเป็นที่พอใจของโลกุตตรจิตและมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และมหากิริยาญาณสัมปยุตต์แต่นิพพานหรือโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติของโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันจึงควรที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของโลภะและอะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต เพราะเหตุว่าวันหนึ่ง ๆ กุศลจิตเกิดน้อยกว่าโลภมูลจิตมาก

    สำหรับโทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี หรือว่าทุกขกายวิญญาณไม่เป็นที่ปรารถนา เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    และสำหรับรูปซึ่งทุกท่านพอใจแสวงหาอยู่เสมอ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปใดซึ่งกำลังเป็นที่พอใจ ขณะนั้นกำลังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย พอใจอย่างหนักแน่น ไม่ใช่เฉย ๆ เพราะเหตุว่าตั้งแต่ตื่นมา โลภะนับไม่ถ้วน แต่ยังไม่ปรากฏว่าปรารถนาหรือพอใจหรือแสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ ขณะใดที่รู้สึกว่าต้องการสิ่งใด พอใจสิ่งใด แสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และควรที่จะได้ทราบด้วยว่า เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้นสำหรับรูป

    นี่เป็นประโยชน์ที่ว่า ท่านผู้ฟังจะได้ขัดเกลาการติดอย่างมากในรูป เพราะว่าอย่าเข้าใจผิดว่า บางรูปจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล

    รูปเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ จริง แต่ไม่มีสักรูปเดียวที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดพอใจรูป แล้วก็คิดว่าเป็นกุศล ควรที่จะได้ระลึกถึงอารัมมณาธิปติปัจจัยว่า ถ้าเป็นกุศลแล้วไม่ติดสละวัตถุนั้นได้ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่ว่าไม่ว่าจะพอใจในรูปใดก็ตาม และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศล ก็ขอให้พิจารณาว่าถ้าเป็นรูปแล้วและมีความพอใจอย่างมากในขณะนั้นต้องไม่ใช่กุศล

    อย่าลืมแยกกันว่า รูปเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้

    ท่านผู้ฟังให้ทานก็เป็นไปในเรื่องรูปในขณะนั้นไม่ติดสามารถที่จะเป็นกุศล สละได้ เพราะฉะนั้นรูปจึงเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้

    อันนี้เพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้ละคลายอกุศลให้รู้ว่าขณะที่กำลังพอใจอย่างหนักแน่น ในรูปหนึ่งรูปใด ในขณะนั้นรูปนั้นจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลไม่ได้

    ทรง.รูปของพระพุทธเจ้าจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เป็นอารัมมณปัจจัยได้แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

    ขณะนั้นกุศลจิตเกิดใช่ไหมคะ รูปนั้นเป็นเพียงอารัมมณปัจจัย อย่าลืม แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดติดในรูปนั้น ให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตเสียแล้ว

    เพราะฉะนั้นการนอบน้อมเคารพสักการะ จึงต้องมีเหตุผลว่านอบน้อมเคารพสักการะในอะไรในคุณธรรม ในพระคุณต่าง ๆและถ้าเป็นการที่จะเกิดกุศลจิตในขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่ในขณะที่เป็นโลภมูลจิต ถ้าเกิดการติดหรือเกิดพอใจอย่างมาก อย่างหนักแน่น อย่างประทับใจก็ให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    จิตเกิด – ดับสลับกันเร็วเหลือเกิน และลักษณะของจิตที่คล้ายคลึงกันคือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาและโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ก็อาจจะคิดว่าอกุศลจิตเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นในเรื่องของปัจจัยจึงได้แสดงไว้โดยละเอียดกว่านี้มากทีเดียวว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นปัจจัยให้เกิดจิตประเภทไหน ซึ่งเป็นปัจจยุปปันนธรรม

    “ปัจจัย” เป็นเหตุให้เกิดผลคือ“ปัจจยุปปันนธรรม”

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่ารูปทั้งหมดอย่าลืมเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    มิฉะนั้นก็จะหลงมีอกุศล แล้วก็เข้าใจว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ท่านผู้ฟังชอบดอกไม้ชนิดไหนคะ บางท่านก็อาจจะถามกันใช่ไหมคะ ประเภทนั้นที่ชอบเป็นพิเศษเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เวลาที่ถวายดอกไม้บูชาพระรัตนตรัยในขณะนั้นรูปนั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่ขณะที่ชอบเหลือเกิน พอใจมากในดอกไม้ประเภทนั้น ในขณะนั้นต้องอย่าลืมเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ยังจะให้เป็นกุศลไหมคะในขณะนั้นกุศลในขณะที่บูชาพระรัตนตรัย แต่เวลาที่กำลังชอบมากจริง ๆ ในขณะนั้นยังจะให้เป็นกุศลต่อไปอีกไหมคะ หรือว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลเสียแล้วโดยที่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นสำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ถ้าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเสียจนเกินไป ก็ขอให้เพียงแต่รู้ เพียงข้อสำคัญที่ว่าอารัมมณาธิปติปัจจัย

    โดยนัยของจิต ได้แก่ จิต ๘๔ ดวงเว้นจิต ๕ ดวง ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่พอใจ

    โดยนัยของเจตสิก ก็เว้นเจตสิกที่เกิดกับจิตเหล่านั้น

    โดยนัยของรูป รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    สำหรับนิพพานและโลกุตตรจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลกุตตรจิต และมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต และมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต

    สำหรับโลกุตตรธรรม ๙ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจัยของโลภมูลจิต

    สงสัยไหมคะในเมื่อโลภมูลจิต หรือสภาพซึ่งได้แก่โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ติดและพอใจ ไม่เว้นอะไรเลย นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ทุกอย่างเป็นอารมณ์ได้ทั้งหมด

    โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน เป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทุกขณะทุกวัน อยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีอะไรก็พอใจได้ทั้งนั้น นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้นซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของอธิปติปัจจัย


    หมายเลข 3366
    29 ส.ค. 2558