ปัจจัยต่างๆ กับปัจจยุบบันธรรม
สำหรับปัจจัยที่ ๔ คือ “อนันตรปัจจัย” ท่านผู้ฟังจะต้องไม่ลืมความหมายของปัจจัย ว่า ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งอุปการะ เป็นที่อิงอาศัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงปัจจัยต้องมีสภาพธรรมที่เป็นผล ที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น สภาพธรรมที่เป็นผลที่เกิดเพราะปัจจัยนั้นภาษาบาลีใช้คำว่า ปจฺจยุปฺปนฺนธมฺซึ่งภาษาไทยใช้คำตามภาษาไทยว่า ปัจจยุปบันน ไม่ใช่ปัจจุบัน แต่เป็นปัจจยุปบันน
ปัจจัยเป็นเหตุ เป็นธรรมที่อิงอาศัย เป็นธรรมที่อุปการะให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น บางครั้งธรรมที่เป็นปัจจัยก็ทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกับตน เช่น เห-ตุปัจจัย ได้แก่ โลภเจตสิกเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นซึ่งเป็นปัจจยุปบันนเกิดพร้อมกันในขณะนั้น แล้วดับไป
นี่คือลักษณะของความพิเศษของเห-ตุปัจจัย ซึ่งทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันแต่สภาพธรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัยไม่ได้ทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน แต่ทำให้เกิดภายหลัง นานแสนนานก็ได้ เช่น กัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถึงแม้ว่าจะดับไปนานแล้ว ไม่ได้ทำให้ผลเกิดขึ้นสืบต่อทันทีอาจจะดับไปถึงแสนโกฏิกัปป์ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้จิต เจตสิก ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นพร้อมกับรูป ซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความพิเศษความต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง
สำหรับ “อนันตรปัจจัย”
อนันตร หมายความถึงสภาพที่เป็นปัจจัยให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่น แต่ไม่ใช่พร้อมกัน ในขณะเดียวกับที่ปัจจัยนั้นเกิด
เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า เมื่อดับไปแล้วทำให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น
ไม่เหมือนอย่างกัมมปัจจัย ซึ่งกรรมดับไปนานแล้ว ก็ยังทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดแต่อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับไป ทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่นเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น
เพราะฉะนั้นอย่าลืม บางครั้งได้พูดถึงปัจจัย แต่ไม่ได้กล่าวถึงปัจจยุปบันนธรรม เช่น ในคราวก่อนที่กล่าวถึงเรื่องอารัมมณาธิปติปัจจัย ได้กล่าวว่า สภาพธรรมใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ไม่ได้แสดงโดยละเอียดว่า ทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ จิตกี่ประเภทเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้ากล่าวถึงโดยละเอียดจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก
และสำหรับอนันตรปัจจัยนั้นมีปัจจัยที่คู่กันอีกปัจจัยหนึ่ง คือ “สมนันตรปัจจัย” ได้แก่ สภาพของจิตซึ่งเกิด – ดับสืบต่อกันโดยดี หรือว่าด้วยดี ตามลำดับ ไม่สับสน
เช่นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ดับไป เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นได้ทันทีหลังปฏิสนธิ แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จะเป็นอนันตรปัจจัยหรือสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต ซึ่งกรรมประเภทเดียวกันนั้นเอง ที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไปนั้น กรรมนั้นทำให้วิบากจิตทำกิจภวังค์เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต
เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตจะไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้กับจิตอื่น นอกจากภวังคจิต ด้วยเหตุนี้ ท่านที่ศึกษาอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาโดยท่านพระอนุรทธาจารย์ จะเห็นได้ว่า
ปริจเฉทที่ ๔ ทั้งหมดที่ท่านพระอนุรุทธราจารย์รวบรวมไว้ มาจากอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ในคัมภีร์ปัฏฐาน ในคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรมนั่นเอง ซึ่งก็จะได้ขอกล่าวถึง เพื่อให้เห็นว่า อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย เป็นการแสดงเรื่องวิถีจิตทั้งหมดในปริจเฉทที่ ๔ ของอภิธรรมมัตถสังคหะ