ปฏิสนธิกาล กับ ปวัตติกาล
จะเห็นได้ว่าปริจเฉทที่ ๔ ทั้งหมดที่ท่านพระอนุรุทธราจารย์รวบรวมไว้ มาจากอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยในคัมภีร์ปัฏฐาน ในคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรมนั่นเอง ซึ่งก็จะได้ขอกล่าวถึง เพื่อให้เห็นว่า อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยเป็นการแสดงเรื่องวิถีจิตทั้งหมดในปริจเฉทที่ ๔ ของอภิธรรมมัตถสังคหะ
สำหรับชีวิตในชาติหนึ่ง ๆแบ่งออกเป็น ๒ กาล คือ ปฏิสนธิกาล กาลหนึ่ง และปวัตติกาล อีกกาลหนึ่ง
สำหรับปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเป็นปฏิสนธิกาล หลังจากนั้นทั้งหมด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นปวัตติกาล
ทั้งหมดนี้ คือ อนันนตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยทำให้จิตเกิดดับสืบต่อไม่สิ้นสุด จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์จึงจะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้นามธรรมเกิดสืบต่อไปได้
สำหรับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่แม้อย่างนั้นในขณะของปฏิสนธิจิตนั่นเอง ประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันนธรรมของรูปธรรมและอรูปธรรม คือ นามธรรมทั้งหลายทั้งหมดตลอดชีวิต เหตุที่จะให้เกิดสุข ทุกข์ หรือการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด การได้ยิน การได้ลาภ ได้ยศการเสื่อมลาภเสื่อมยศ หรือว่าสรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ แม้ในขณะนี้เป็นผลของปฏิสนธิจิตซึ่งประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันนธรรมของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลาย