รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คนพูดได้อย่างไร


    ท่านอาจารย์ การที่จะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่คนพูด รู้ได้อย่างไร? ต้องมีเหตุผล ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้ ที่จะรู้ว่าไม่ใช่คนพูด แต่เป็นสภาพธรรม เป็นสภาพที่ตรึกหรือคิดนึก ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม อบรมเจริญอย่างไร จึงรู้อย่างนั้น

    ผู้ฟัง ท่านก็กล่าวไปถึง ธรรมสัมโพชฌงค์ ที่เพิ่งกล่าวว่า ความเพียรชอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐานแน่นอน

    ผู้ฟัง อาจารย์ได้กล่าวว่า ก็ต้องละความเห็นผิดก่อน ก่อนที่จะละความเป็นตัวตน ที่ว่าละความเห็นผิดนั้น ที่ว่าไม่ใช่เป็นธรรมนั้น จะละโดยธรรมอะไร? ที่ละความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ความรู้กับความไม่รู้ต่างกัน ความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ความรู้จริงจะเห็นว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่เรา ต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีการฟังพระะรรมเลย ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถึงแม้ว่าฟังแล้ว ก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าถ้าไม่มีสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะนั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง คือขณะนี้ก็มีการเปรียบเทียบ ว่าผู้มีการหลงลืมสติ เพราะว่าสติยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจขณะที่สติเกิดก่อน ถ้าไม่เข้าใจขณะที่สติเกิด สติก็เจริญไม่ได้

    ผู้ฟัง มีสภาพธรรมอะไรที่ขัดเกลากิเลส

    ท่านอาจารย์ ปัญญาระดับของวิปัสสนาญาณ จึงจะขัดเกลาได้

    ผู้ฟัง สติปัฏฐาน สามารถขัดเกลากิเลสได้ไหม?

    ท่านอาจารย์ เริ่มที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งเมื่อไหร่ ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นปุถุชนนี้ ไม่มีโอกาสที่จะขัดเกลากิเลสเลยใช่ไหม?

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาหรือเปล่า?

    ผู้ฟัง ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสภาพที่รู้เท่านั้นที่จะละความไม่รู้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็จะไปเอาอะไรมาขัดเกลาได้ ก็ยังคงไม่รู้อยู่นั่นแหละ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเป็นปุถุชน ยังขัดเกลาอะไรไม่ได้ ก็ยังเต็มไปด้วยกิเลสใช่ไหม?

    ท่านอาจารย์ อบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ รู้ขึ้น


    หมายเลข 3374
    25 ส.ค. 2567