สหคตัง-สัมปยุตตัง-สัมปยุตตปัจจัย


    คุณอุไรวรรณ สหคตัง กับ สัมปยุตตัง ต่างกันอย่างไร

    อ.คำปั่น คำว่า สหคตัง แปลว่า เกิดร่วมด้วย คำนี้ตามศัพท์จริงๆ แต่ถ้าจะแยกศัพท์ก็มาจากคำว่า สห ซึ่งแปลว่า พร้อม หรือว่า ด้วย กับคำว่า คตัง จึงเป็น สหคตัง แปลว่า ไปด้วยกันหรือว่าเกิดร่วมด้วย สำหรับ สัมปยุตตัง ศัพท์ที่ ๒ ก็หมายถึง ประกอบด้วย อย่างเช่น ที่ปรากฎ อย่างเช่น โลภมูลจิต ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ ก็คือเป็นจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ แล้วก็เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักจูง

    อ.สมพร สัมปยุตตัง แปลว่า ประกอบทั่วพร้อม แต่ในพระไตรปิฎก แปลว่า ประกอบ อย่างเดียว ต่างจาก สหคตัง แปลว่า เกิดพร้อมกัน คือ ไปพร้อมกัน หมายความว่า ร่วมกัน นั่นเอง แต่ว่าเป็นนามกับนาม ไม่ใช่เป็นนามกับรูป เช่นจิตกับเวทนา เกิดพร้อมกันอย่างไร เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน ก็เรียกว่าสหคตัง สัมปยุตตังก็เหมือนกัน หมายความว่าศัพท์ต่างกัน แต่ว่าโดยใจความแล้วเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขอความรู้ภาษาบาลีว่า โสมนัสสหคตัง ไปกับโสมนัสใช่ไหม โสมนัสไปพร้อม หรือว่าสภาพธรรมอื่นไปพร้อม

    อ.สมพร คำว่าโสมนัส แยกศัพท์ออกเป็น สุมน แต่ว่า ใจดี ใจดี ก็คือเจตสิกที่ประกอบกับจิต ทำให้ใจดี เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ คต แปลว่าไปพร้อม แปลว่า ไปพร้อมกับใจที่ดี หมายความว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันมีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน ๔ อย่าง ในที่นี้ท่านเรียกว่าโสมนัสสหคตัง

    ท่านอาจารย์ อยากจะให้ได้ความว่าเป็นจิตที่ไปพร้อมกับโสมนัส โสมนัสสหคตัง หรือว่าโสมนัสนั้นไปพร้อมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ว่าไปแล้ว แต่ว่ารูปศัพท์อาจจะบ่งได้ แต่ถ้ากล่าวถึงจิต พูดถึงโลภมูลจิต โสมนัสสหคตัง จิต นั้นก็ไปพร้อมกับโสมนัส หรือว่าโสมนัสเกิดขึ้นไปพร้อมกับจิต และเจตสิก อื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ในมหากิริยาจิต ก็โสมนัสสหคตังเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน พอพูดถึงจิต จิตนั้นไปพร้อมกับโสมนัส หรือว่าพูดว่าโสมนัสนั้นเกิดขึ้นไปพร้อมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ก็เหมือนกัน แต่โดยรูปศัพท์ภาษาบาลีไม่ทราบอะไรไปพร้อมกับอะไร จิตไปพร้อมกับโสมนัสเวทนา หรือโสมนัสเวทนาไปพร้อมกับจิต

    อ.สมพร สหคตัง แปลว่า ไป ตามศัพท์ แปลว่า ไป แต่ว่าในพระอภิธรรม แปลว่า เกิด ก็ได้ หรือว่าใช้แทนคำว่า ชาติ ก็ได้ แปลว่า เกิดพร้อมกับโสมนัส ที่เราแปลว่า ไป หมายความว่า เกิด ก็ได้ เกิดพร้อมกับโสมนัสหมายความว่าเวทนาเกิดพร้อมกับจิต เกิดพร้อมกัน ก็คือไปนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า เกิด ก็ชัดเจน คือไม่รู้จะไปไหน แต่ว่าเกิดพร้อมนี้ชัดกว่า

    อ.สมพร ถ้าหากว่าจิตไม่มีแล้ว เจตสิกก็ไม่สามารถที่จะเกิดได้ เหมือนคำว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ต้องจิตเป็นประธาน เจตสิกนั้นเป็นแต่ส่วนประกอบเท่านั้นเอง ทุกวันนี้ เรามีจิต แต่เราไม่เคยเห็นจิตเลย มีจิตอย่างเดียว การเห็นโลกก็ไม่ปรากฏ เหมือนคนตาบอด มีแต่จิต แต่ว่าตาไม่มี เพราะฉะนั้นตาเป็นรูป จิตอาศัยรูป ก็คืออาศัยตานั่นเอง จึงเห็นโลกต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน โสมนัสไปพร้อมกับจิต คำว่า ไป แปลว่า เกิด ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าจริงๆ แล้ว ทั้งจิต และเจตสิก ก็เป็นสัมปยุตตธรรมหมายความว่า แยกกันไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกัน โดยภาวะที่ต่างก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่เวลาที่กล่าวถึงโลภมูลจิต ประเภทที่ ๑ คือเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ภาษาบาลีก็จะใช้คำว่า โสมนัสสหคตัง และก็มีคำว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง ก็หมายความว่าขณะนั้นกล่าวถึงโลภมูลจิตประเภทที่มีแม้ว่ามีเจตสิกอื่นๆ เป็นสัมปยุตตธรรม แต่ขณะนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเป็นสัมปยุตตธรรมด้วย คือเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แสดงว่าจิตที่เป็นโลภมูลจิต มี ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวง ๔ ดวง มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีก ๔ ดวงไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ใช้คำแยกให้เห็นว่า ถ้ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นสัมปยุต ถ้าไม่มีก็ใช้คำว่าวิปยุต โดยศัพท์ สห แปลว่า พร้อม คต ที่นี้ท่านอาจารย์สมพรให้ความหมายว่าจะแปลว่า ไป ก็ได้ เกิด ก็ได้ เพราะฉะนั้นโสมนัสสสหคตัง จิตนั้นมีเจตสิกที่เป็นโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง จิตนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสัมปยุตตธรรม


    หมายเลข 3382
    30 ต.ค. 2567