ขณะนอนหลับสนิทจิตมีอารมณ์อะไร
คุณอุไรวรรณ การเข้าใจพระอภิธรรมนั้น จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ศึกษาธรรมในขั้นสูงๆ ต่อไป เพราะถ้าพื้นฐานไม่แน่น ไม่เข้าใจ แล้วพอมาศึกษาขั้นต่อๆ ไป ก็จะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกๆ ครั้งที่ฟังธรรมนั้น จะเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง ชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรมนี้ ก็เปิดโอกาสให้ท่านผู้ฟังได้ถามปัญหาเกี่ยวกับพระอภิธรรมที่สงสัย
พระอภิธรรมนั้นพระพุทธองค์แบ่งเป็น ๔ ก็คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ขณะนี้ก็สนทนากันถึงเรื่องจิต พูดกันถึงจิตในหลายนัยยะ เริ่มต้นแล้วก็พูดถึงชาติของจิต ภูมิของจิต แล้วก็จิตที่มีเหตุ และจิตที่ไม่มีเหตุ และจนสุดท้ายนี้ก็ได้พูดถึงจิตในนัยของวิถีจิต จิตที่เป็นวิถี และจิตที่ไม่ใช่วิถี ท่านใดมีความประสงค์อยากจะให้ทบทวนเกี่ยวกับอะไร หรืออยากจะสนทนาเกี่ยวอะไร อยากจะถามเกี่ยวกับอะไรก็เชิญ
ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องภวังคจิต คือเข้าใจว่าจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์ ไม่เช่นนั้นจิตเกิดไม่ได้ ถ้าเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้พอตอบได้ พอมาถึงภวังค์นี้มีอารมณ์อะไรให้จิตรู้ เพราะหลับสนิท ไม่รู้อะไร อะไรคืออารมณ์ของภวังคจิต
ท่านอาจารย์ จริงๆ พื้นฐานพระอภิธรรมนี้ ก็คือว่าเราต้องฟัง เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฎ ซึ่งเป็นธรรม จนกว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎจริงๆ เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจ หรือว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ โดยสภาพที่ไม่ใช่เรา เราก็จะฟังให้เป็นพื้นฐานให้เป็นความเข้าใจ จนสามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็เวลาที่ได้ฟังธรรมแล้ว ธรรมเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่นอนหลับสนิท จิตมีอารมณ์อะไร ไม่ปรากฏเลย ก็อยากจะทราบว่าขณะนั้นจิตมีอารมณ์อะไร ข้อสำคัญที่สุด ก็คือทราบว่าจิตต้องมีอารมณ์ อันนี้แน่นอน มิฉะนั้นความเข้าใจของเราเรื่องจิตจะคลาดเคลื่อน ว่าจิตที่ไม่มีอารมณ์ก็มี เช่นในขณะที่หลับสนิท ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้แล้ว ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ในขณะที่จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น แต่เป็นความจริงที่ว่าใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ว่าขณะที่หลับสนิทมีจิตใช่ไหม หรือว่าขณะหลับสนิทไม่มีหายไปเลย หมดไปเลย มีแต่รูปขณะนั้น คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรอง ให้เข้าใจว่าขณะที่นอนหลับสนิทมีจิตไหม
ผู้ฟัง มีจิต
ท่านอาจารย์ แต่อารมณ์ไม่ปรากฎ เพราะฉะนั้นจึงมีจิต ๒ ประเภท คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าไม่ใช่วิถีจิตแล้ว แม้จิตเกิด มีอารมณ์ อารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฎ เพราะว่าที่อารมณ์ต่างๆ ปรากฎได้ เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ มีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาท และไม่มีจิตเห็น สิ่งที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ก็ปรากฎไม่ได้เลย นี่คือความจริง ศึกษาให้ทราบว่า ที่ขณะนี้ดูเป็นธรรมดาว่ามีจิตเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฎธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่ทั้งหมดต้องมีปัจจัย ที่จะทำให้มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่สิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท จะปรากฎได้ต้องปรากฏกับจิตเห็น และจิตอื่นๆ ที่อาศัยตาเป็นปัจจัย นี่ก็แสดงเห็นแล้วว่าเป็นอย่างนี้ เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ โดยไม่อาศัยตาได้ไหม ไม่ได้ เสียงปรากฎโดยไม่อาศัยหูได้ไหม ไม่ได้ กลิ่นปรากฎโดยไม่อาศัยจมูกได้ไหม ไม่ได้ รสปรากฏโดยไม่อาศัยลิ้นได้ไหม ไม่ได้ สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสขณะนี้ปรากฎได้ไหม ถ้าไม่อาศัยกายปสาท ก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตที่คิดนึก เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ที่เราเคยชินกับเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เพราะว่าเป็นจิตที่มีทางที่จะรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์แน่นอน แต่ไม่ใช่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงไม่ใช่อารมณ์ที่เราเห็น และสามารถที่จะรู้ได้ ฉันใด เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันเกิดขึ้นสืบต่อ เป็นผลของกรรมเดียวกันนั้นเองดำรงภพชาติ โดยที่ว่าไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นใครก็จะไปรู้อารมณ์ของจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตไม่ได้ แม้ว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ คือจะไปพยายามรู้อารมณ์ของภวังคจิต เป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราสามารถจะรู้สิ่งใดได้ โดยต้องอาศัยตาเห็น หูได้ยิน
ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ที่ต่อมาจากจุติจิตหรือปฏิสนธิจิตอย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่าปฏิสนธิจิต เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิดขึ้น ต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดก่อน และจิตที่เป็นกุศล อกุศล ก่อนจุติก็มีอารมณ์ทางหนึ่งทางใด ไม่ใช่ภวังค์ ขณะนั้นก่อนจะตาย จะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่ระทบสัมผัส หรือจะคิดนึก มีอารมณ์ใดก็แล้วแต่ เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็รับอารมณ์นั้นต่อ
ผู้ฟัง ภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับจุติจิตหรือปฏิสนธิจิต
ท่านอาจารย์ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อ ทำกิจภวังค์ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต และปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน แต่ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่าจุติจิตปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ๓ จิต คือ จุติจิต ปฏิสนธิจิต กับ ภวังคจิต ซึ่งภวังคจิตได้คำตอบแล้ว ส่วนจุติจิตกับปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร แล้วจะเรียกว่าอะไร ในเมื่อไม่มีทวารให้รู้
ท่านอาจารย์ ก็ต้องแยกจิตเป็น ๒ ประเภท จิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร กับจิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวาร และเรียกว่าวิถีจิต ก็เพราะเหตุว่าต้องอาศัยทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวารนั้นๆ จึงเป็นวิถีจิต
ผู้ฟัง และ ๓ จิตนี้ ไม่ใช่วิถีจิต
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เลยไม่อาศัยทวารเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ ไม่ได้อาศัยทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จุติของชาติก่อน เวลาที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าเป็นภวังคจิต เป็นผลของกรรมเดียวกัน พอถึงจุติจิต ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ของชาตินั้นๆ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราอาจจะใช้คำว่าทุกๆ จิตจะต้องมีอารมณ์ เพียงแต่ว่าไม่อาศัยทวารก็มี อาศัยทวารก็มี
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง