กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    บรรพต่อไป ในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในบ้างทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอย่อมตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบอิริยาบถบรรพ

    (นัยที่ ๑ นัยของสติปัฏฐาน ความว่า

    ภิกษุปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากวิตก วิจารด้วยทุติยฌาน

    ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากปีติด้วยตติยฌาน

    ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขด้วยจตุตถฌาน

    นั่นโดยนัยของสมถภาวนา

    ส่วนนัยของวิปัสสนานั้นมีว่า

    ก็หรือภิกษุเข้าฌานเหล่านั้น ออกแล้ว พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป เสื่อมไป ในขณะแห่งวิปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิจจสัญญา คือ ความสำคัญว่าเที่ยง ด้วยอนิจจานุปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขสัญญา)

    คือ ความสำคัญว่าเป็นสุข ด้วยทุกขานุปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากอัตตสัญญา คือ ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน ด้วยอนัตตานุปัสสนา

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด

    เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

    ถ้าหลง ไม่มีสัมปชัญญะ เวทนาเกิดก็ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติใดปรากฏก็ไม่รู้

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

    ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจะพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุย่อมคลายกำหนัด หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุจักพิจารณาความดับ หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุจักพิจารณาความสลัดคืน หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌา และโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

    ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนมีกองดินใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนหรือรถผ่านมาในทิศบูรพา ก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมจะกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้

    ไม่ใช่ให้จำกัด คือ รู้เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนาตามใจชอบ แต่เรื่องของการละ จะต้องรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทั่ว จึงจะละได้

    ถ้าใครยังไม่พิจารณาเวทนา อย่าคิดที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามรูป ไม่ใช่ว่าจะรู้กายอย่างเดียวโดยไม่รู้อย่างอื่น ถ้าโดยลักษณะนั้นแล้ว ปัญญาไม่เจริญ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้เวทนาที่กำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้จิตที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ มีสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

    ในหมวดของอานาปานสติที่ว่า มีอานิสงส์มาก มีผลมาก ย่อมสำเหนียกรู้เวทนา คือ ปีติ สุข จิตสังขาร ย่อมสำเหนียกรู้จิต หายใจออก หายใจเข้า เวลาที่จิตบันเทิงตั้งมั่น หรือว่าเปลื้องจิต นั่นเป็นเรื่องของการพิจารณาจิต

    ดูกร อานนท์ สมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง (โดยความเป็นของไม่เที่ยงของขันธ์ทั้ง ๕ ไม่จำกัดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย) โดยสภาพของธรรม (เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน) หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

    ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม ปรากฏได้ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า มีลักษณะของนามรูปปรากฏ แล้วไม่หลงลืมสติ แล้วรู้ชัด ก็รู้ชัดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

    อานาปานสติสมาธินั้น จิตสงบ เป็นอุปจารสมาธิ รู้เฉพาะลมหายใจ แล้วก็มีนิมิตของลมหายใจเกิดขึ้น ทำให้ปีติตั้งมั่น รู้ว่าเป็นปีติ หรือว่ามีปีติในขณะนั้น แต่ไม่ได้รู้ความเกิดความดับของปีติ ไม่ได้รู้ลักษณะของปีติ


    หมายเลข 3404
    2 ส.ค. 2567