ปัญญาในสมถะ กับ ปัญญาในวิปัสสนา
ปัญญาของสมถะ ก็รู้วิธีที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ปัญญาของวิปัสสนา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ไม่จำกัดบุคคลว่าเคยเจริญสมาธิมาก่อนหรือ ไม่เคยเจริญสมาธิมาก่อน
เพราะฉะนั้น ทุกท่านขณะนี้ ถ้าลมหายใจไม่ปรากฏ สิ่งอื่นปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงลมหายใจ วันดีคืนดีเคยสะสมอบรมมา สติจะระลึกรู้นามใดละเอียด สุขุมสักเท่าไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ที่จะจดจ้อง เลือกเฟ้นที่จะรู้นามนั้นรูปนั้น เพราะเหตุว่า ลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียดมาก บางคนไม่กล้าที่จะเจริญ บางคนก็ใคร่ที่จะเจริญ เพื่อจะได้หายสงสัย แต่ว่า การเจริญวิปัสสนา การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เลือกอารมณ์ ถ้าเลือกอารมณ์ตราบใด ก็เป็นลักษณะของตัวตนตราบนั้น แต่ว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ แต่ว่าสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของรูปที่ละเอียดชนิดใด นามละเอียดชนิดใด นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ไม่ใช่เป็นเรื่องจงใจให้เหมือนกันทุกคน
ตราบใดที่มีสติ ก็คือว่า ลักษณะของอารมณ์ปรากฏ เวลานี้ ทางตา มีนาม มีรูป กำลังเห็น มีสีปรากฏ ทางหู มีได้ยิน มีเสียง ทางใจมีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ทางกายมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง แต่ว่า ขณะใดที่มีสติ ขณะนั้นลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ ปรากฏชัดเพราะสติระลึกรู้ลักษณะนั้น เย็นนิดหนึ่ง เห็นหน่อยหนึ่ง ได้ยินหน่อยหนึ่ง เสียงหน่อยหนึ่ง เป็นลักษณะของหลงลืมสติ ไม่ได้ระลึกในลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่ที่จะเป็นการระลึกในลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็คือ สภาพที่ปรากฏในขณะนั้น ชัดเพราะสติระลึกที่ลักษณะนั้น กำลังเย็น รู้ชัดที่ตรงเย็น นั่นคือสติระลึกที่ลักษณะนั้นแล้ว ไม่ต้องมีตัวตนเอาสติไประลึกที่นั่น แต่หมายความว่า ลักษณะใดที่ปรากฏ เพราะสติระลึกที่ลักษณะนั้น กำลังเห็นด้วย เย็นด้วย แต่ลักษณะที่เย็นปรากฏเพราะสติระลึกที่นั่น แต่ว่าถ้าไม่ระลึกที่นั่น จะระลึกว่าที่กำลังเห็นนั้นก็เป็นสภาพรู้อันหนึ่ง ก็ระลึกได้หมดทั้ง ๖ ทาง แล้วแต่ว่าจะเป็นทางไหน ทีละอย่าง โดยที่ไม่จำกัด แล้วก็ไม่ต้องคิดว่า รวดเร็วเหลือเกิน สับสนมาก จะไปจับอันนั้นอันนี้ เพราะเหตุว่าถ้าจะไปจับอันนั้นอันนี้ ก็ไม่ใช่การเจริญสติ แต่การเจริญสติ เพียงระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใดได้ทั้งนั้น ไม่ผิดปกติเลย ปกติทุกอย่าง คนอื่นไม่รู้ ไม่ใช่ว่าจะไปเจริญสติให้คนอื่นรู้
ถึงแม้ว่าคิด สติก็ระลึกรู้ได้ว่า คิด ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เพื่อจะให้ชิน แล้วก็ละคลายการที่กระวนกระวาย อึดอัด ระอา คิดว่าเป็นตัวตน เพราะว่าความจริง ความคิด ไม่ใช่ตัวตน อาศัยเหตุปัจจัยก็คิดขึ้น
ความสำคัญก็คือ ปัญญา กับ สติ ต้องละเอียดขึ้น ต้องมากขึ้น มากคือรู้ลักษณะของนาม และรูปเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปรู้อันเดียวมากๆ ไปจดจ้องอย่างนั้นไม่ใช่
ขณะนี้สติเกิดบ้างไหม เกิดได้ และคงจะเกิดบ้าง อย่าไปคิดว่าจะต้องเป็นสติที่เกิดติดต่อกันตลอดเวลา เพราะเหตุว่า สติเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับไปอีก แล้วแต่ว่าจะระลึกได้ในขณะใดก็เป็นสติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ดับ แล้วก็หลงลืมสติ จึงต้องเจริญอบรมให้ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปโดยไม่จำกัดสถานที่ โดยไม่จำกัดเวลาจึงจะเป็นการรู้ว่า สติเป็นอนัตตา ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเป็นอัตตาที่ไปส่งเสริม ไปทำ ไปสร้าง แล้วก็เข้าใจว่าสามารถที่จะบังคับให้สติเกิดได้ แต่โดยมาก ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่พอใจที่สติเกิดขึ้นวันละนิดวันละหน่อย รู้สึกว่าน้อยมาก อยากจะให้มีสติมากๆ ติดต่อกันนานๆ อยากจะบังคับให้ได้เยอะๆ แต่ข้อสำคัญที่สุด ปัญญารู้อะไร ถ้าปัญญาไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ โดยมากอวิชชาความไม่รู้ในข้อปฏิบัติ กับ ความต้องการผลของการปฏิบัติ จะชักนำให้ไปทำขึ้น แต่ว่าไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏเกิดแล้วในขณะนี้เลย พอนึกว่าจะทำวิปัสสนา รู้ลักษณะของนาม และรูปที่เกิดปรากฏในขณะนี้ไหม ไม่ ขณะที่คิดว่า “จะทำ” ไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย แล้วก็ถ้าทำจริงๆ ก็ยิ่งบังไว้ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้นาม และรูปที่เกิดปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเลยสักขณะเดียว เพราะเหตุว่าต้องทำ แล้วก็เลิกทำ แล้วก็ต้องทำ แต่ตอนเลิกทำ เป็นปกติไหม เป็นของจริงไหม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไหม บังคับไม่ให้เกิดได้ไหม นามในขณะนี้ ใครบังคับว่าอย่าให้เกิด รูปในขณะนี้ ใครบังคับได้ว่าอย่าให้เกิด บังคับไม่ได้เลย เมื่อบังคับไม่ได้ สติก็ควรจะระลึกรู้สภาพความเป็นอนัตตาของนาม และรูป ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ในขณะนี้เอง