การระลึกรู้คือรู้จิตที่ไประลึกรู้เวทนาหรือไม่


    ผู้ฟัง ลักษณะของการระลึกรู้คือ ระลึกรู้เวทนา ขณะเดียวก็ต้องระลึกรู้สภาพรู้ ก็คือจิตที่ไปรู้เวทนาอันนั้นใช่หรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่อง แล้วก็ยาวด้วย ถ้าเราพูดสั้นๆ ขณะนี้มีความรู้สึกไหม ความรู้สึกมีกันทุกคน เวลาจิตเกิด ที่จะปราศจากความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย แค่นี้ต้องค่อยๆ ฟังให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าจะพูดถึงความรู้สึก ก็ต้องเข้าใจว่ามี แล้วก็มีเกิดกับจิตทุกขณะด้วย ไม่เว้นเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ใครจะรู้หรือไม่รู้ ก็ต้องมีสภาพความรู้สึกเกิดกับจิต ซึ่งความรู้สึกมี ๓ อย่าง หรือ ๕ อย่าง ถ้าแยกเป็นทางกายกับทางใจ ถ้าไม่แยกเป็นทางกายทางใจ ก็มี สุข ๑ ทุกข์ ๑ อุเบกขา ๑ อทุกขมสุข ไม่สุข ไม่ทุกข์ ๑ นี่ไม่แยก แต่ถ้าแยกก็เป็นสุข ๑ หมายถึงความรู้สึกสบายทางกาย ทุกข์ ๑ ความไม่สบายทางกาย โสมนัส ความสบายใจ แม้ว่ากายจะเป็นทุกข์ แต่ใจไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ก็เป็นโสมนัสเวทนา ความรู้สึกสบายใจ ๑ โทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่สบายใจ แม้ว่ากายไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เดือดร้อนเลย แต่ใจเป็นทุกข์ ความรู้สึกนั้นก็เป็นโทมนัสเวทนา ส่วนอุเบกขาเวทนาก็คืออทุกขมสุข เราไม่พ้นเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

    นี่หมายความว่า ให้เข้าใจอย่างนี้ แทนที่จะแยกเป็นบรรพอะไร ให้ระลึกตอนไหน อย่างไร ให้รู้ความจริงว่ามีไหม แม้มี แต่เมื่อใดที่สติไม่ระลึก ขณะนั้นเวทนานั้นไม่ได้ปรากฏ แม้ว่าเกิดขึ้นก็ดับไปเร็วมาก การเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก สั้นมาก เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงสติปัฏฐาน ต้องเป็นสติเจตสิกที่ระลึกเท่านั้นจึงสามารถอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งที่เกิดดับเร็วมากได้

    เพราะฉะนั้น เวลานี้เหมือนเห็นตลอดเวลา แล้วมีได้ยินบ้าง มีคิดนึกบ้าง มีความรู้สึกชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แสดงว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สติระลึกหรือเปล่า นี่ต้องเข้าใจว่า แม้สภาพธรรมนั้นมี แต่ดับไปหมดแล้ว

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กำลังปรากฏเท่านั้นที่สติสามารถจะเกิดระลึกได้ แต่ทั้งสติ และสิ่งที่ปรากฏก็ดับเร็ว

    เพราะฉะนั้น เวลานี้ถ้ามีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แล้วสติระลึกที่ความรู้สึก เป็นไปไหมคะ

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องคิดมากเกินกว่านั้น

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเวทนานั้นก็เป็นเพียงลักษณะของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่สติระลึกเพื่อรู้ลักษณะที่เป็นความรู้สึกว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้โดยที่เราเรียนมาว่า ขณะที่ระลึกนั้นก็มีสติที่ระลึก และมีลักษณะของเวทนาที่ระลึก ทีนี้สภาพรู้ถ้าเกิดเป็นถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเราจะพูดกันอยู่เรื่อยๆ ว่า แยกรูป แยกนาม ถ้าหากเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยกรูป แยกนามนะคะ สภาพธรรมที่ต่างกันปรากฏโดยลักษณะนั้นๆ ตามความเป็นจริง แยกขาดจากกัน ขณะนั้นปัญญาประจักษ์ ไม่ใช่ปัญญาไปแยก แต่ปัญญาประจักษ์ลักษณะที่แยกขาดจากกัน

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าขณะนั้นระลึกรู้ในเวทนา ก็คือแยกขาดจากกันของสภาพที่เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ เข้าใจในสภาพที่เป็นนามธรรมว่าไม่ใช่เรา จนกว่าสภาพนั้นจะปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้สภาพที่เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เราจะไม่ระลึกลักษณะของนามตลอดเวลา หรือไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของรูปตลอดเวลา แล้วแต่สติจะเกิด เพราะขณะนี้มีทั้งนามธรรม มีทั้งรูปธรรม แล้วถ้าเป็นปัญญาที่จะละคลาย ไถ่ถอนความเป็นเรา สละ ใช้คำว่า “สละ” ความเป็นเราออกจากสภาพที่กำลังเห็น ได้ยิน กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาต้องรู้ทั่วจริงๆ จนกระทั่งละความสงสัยได้

    ผู้ฟัง ยังระลึกไม่ได้ถึงสภาพรู้ที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปรู้ลักษณะของโทสะ โลภะ อะไรเลย ซึ่งเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ค่ะ แต่หมายความว่าต้องรู้ความต่างกันของธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ กับลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะว่าลักษณะที่ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เป็นลักษณะของเจตสิก ไม่ใช่ไปกั้นเลย อย่างความรู้สึกก็เป็นเจตสิก จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ เพียงแต่จะต้องรู้ในความต่างของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ แล้วถึงจะรู้ว่า นามธรรมนั้นหลากหลาย เป็นนามธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่เรายังไม่เห็นความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ เราก็สามารถเห็นความต่างกันของเจตสิกต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต่างกัน เราไม่ได้ไปสร้าง ไปฝัน ไปแต่ง แต่เมื่อสภาพธรรมต่างก็ต่าง สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกมีผู้รู้แล้วหลายระดับ ผู้ที่รู้แล้วระดับไหน ระดับพระโสดาบัน ระดับพระสกทาคามี ระดับพระอนาคามี ระดับพระอรหันต์ หรือว่าระดับที่ประกอบด้วยคุณวิเศษ สามารถรู้ธรรมอย่างละเอียดกว่าสาวกธรรมดา เป็นมหาสาวก

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาของผู้รู้แล้ว ผู้ที่กำลังศึกษาตัวหนังสือไม่ใช่ผู้รู้แล้ว ก็จะต้องรู้ว่า กำลังของปัญญาของตนเองเริ่มมีเมื่อได้ฟัง และได้พิจารณา แต่จะต้องอบรมจนกว่าความรู้จะค่อยๆ รู้ขึ้น ยังไม่ทั่วในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย แต่ว่าเริ่มรู้ว่า ถ้ารู้จริง ก็คือรู้ความจริงอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างอื่น


    หมายเลข 3416
    28 ก.ค. 2567