ทำไมให้ความสำคัญกับจิตมากกว่าเจตสิก
ผู้ฟัง เมื่อจิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกทุกครั้ง ทำไมเราจึงให้ความสำคัญจิตมากกว่าเจตสิก ในเมื่อจิตเป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้น แต่เจตสิกมีต่างๆ มากมาย
ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่แต่เฉพาะจิต เวทนาทุกอย่างเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ด้วย อุเบกเวทนาก็เป็นอุเบกขินทรีย์ โสมนัสก็เป็นโสมนัสสินทรีย์ คือ ความรู้สึกเป็นใหญ่ เราจะเห็นได้ว่า เวลาที่เรามีความรู้สึกเกิดขึ้น ความรู้สึกสำคัญยิ่งกว่าจิตเสียอีก ขณะนั้นไม่ว่าจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ถ้าความรู้สึกนั้นเป็นสุขเวทนา ความรู้สึกก็จะเป็นสุข สภาพเจตสิกอื่นๆ ก็ไม่มีสภาพใดเลยที่จะรู้ว่าเป็นทุกข์ เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปตามความรู้สึกที่โทมนัส แม้แต่จิตซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างขณะใดที่เวทนาชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดปรากฏอย่างแรง ไม่มีใครนึกถึงสภาพของจิตเลย หรือแม้แต่ในขณะนี้ ส่งที่กำลังปรากฏทางตามี เราไม่สนใจว่า จิตเป็นสภาพรู้หรือเห็นสิ่งนี้ แต่เราสนใจในสิ่งที่ปรากฏทันที แล้วจิตเกิดดับตั้งแต่เกิดจนตายโดยไม่มีใครรู้ลักษณะของจิตว่า ถ้าจิตไม่เกิด เจตสิกก็เกิดไม่ได้ ความรู้สึกต่างๆ ก็เกิดไม่ได้ หรือจิตเองจะเกิดก็ต้องมีเจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยทำให้จิตเกิดในขณะนั้น เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ไม่รู้ ก็คิดว่าเกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่ไปหาเหตุ หรือไม่สามารถรู้เหตุได้ แต่ผู้รู้สามารถรู้ได้ว่า จิตไม่ใช่มีอยู่ก่อน แต่เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เจตสิกก็เหมือนกัน เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ ต้องมีปัจจัยคือสภาพธรรมอื่นที่อาศัยกันเกิดขึ้นในขณะนั้น มีทั้งจิต ทั้งเจตสิก แล้วแต่ขณะนั้นลักษณะใดจะเป็นอินทรีย์