แนะนำธรรมแก่ผู้ที่ไม่สนใจอย่างไร


    คุณศุกล การจะแนะนำผู้ไม่สนใจธรรมให้สนใจนั้น ควรมีวิธีอย่างไร เริ่มอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบจะมีท่านผู้ใดที่ได้ผลแล้ว จะตอบบ้างไหมคะ แต่เรื่องของธรรมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องของปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าเข้าใจว่า ธรรมที่ควรจะสนใจนั้นควรเป็นขั้นศีลธรรม ไม่ใช่ธรรมขั้นสูง แต่ความจริงเรื่องของศีล ๕ ก็เป็นที่ได้รับฟัง ได้เข้าใจกันมากแล้ว แต่การจะปฏิบัติศีล ๕ ได้ครบถ้วนจริงๆ นั่นเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ต้องถึงศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เพียง ๕ ที่จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีพอจะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์ ก็เป็นสิ่งซึ่งแสนยาก

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น ก็ย่อมยากต่อการเป็นผู้สมบูรณ์ในศีล ๕

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมขั้นสูง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วแต่ท่านผู้ใดเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น เพื่อจะน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมได้มากขึ้น จึงจะสนใจศึกษา แต่ถ้าจะไปชักชวนให้คนนั้นคนนี้มาศึกษา ในครอบครัวก็จะเห็นได้ว่า จะได้เพียงบุคคลหนึ่งหรือ ๒ บุคคล แต่ที่จะได้ทั้งครอบครัวก็เป็นเรื่องที่ไม่มีมากนัก

    เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า แทนที่จะคิดถึงบุคคลอื่น แต่ถ้าตัวท่านเองสนใจศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ก็เป็นโอกาสให้บุคคลอื่นซึ่งอยู่ใกล้ชิด ได้มีโอกาสค่อยๆ รับฟังไปแล้วค่อยๆ สนใจขึ้นได้

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่นมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องนี้

    ผู้ฟัง ตามที่ผมได้ฟังมา นักเรียนเล็กๆ ป. ๓ – ป.๖ มีความสนใจ ผมนำพระธรรมจากพระไตรปิฎกบ้าง จากอรรถกถาบ้าง พูดไป เล่าไป แทรกหัวข้อธรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นนิทานในธรรมบท รู้สึกว่าเด็กสนใจ และอยากฟังมาก ผมคิดว่า เรื่องนำพระไตรปิฎกไปเผยแพร่แก่เด็กเล็กๆ คงจะมีหวัง สำหรับผู้ใหญ่ผมรู้สึกว่า ยากเหลือเกิน เพื่อนฝูงผมมีเป็นร้อยคน แต่ที่จะสนใจโดยเฉพาะทางท่านอาจารย์ ไม่มีเลย มีสนใจบ้างไม่กี่คน แต่สนใจในแนวการเจริญสมาธิ แล้วรู้สึกจะไม่รับฟังด้วยดี เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กแล้ว คิดว่าคงมีความหวัง

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนานะคะ


    หมายเลข 3419
    28 ก.ค. 2567