ปัจจัยโดยแท้ของแต่ละกรรมคือโลภะ
ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ที่ได้กล่าวถึงเรื่องของกรรมต่างๆ คือ กรรม ๑๑ กรรม ๑๒ กรรม ๑๖ ได้แสดงถึงนิทาน หรือนิทานะ ไม่ใช่นิทานที่เล่าให้เด็กฟัง แต่หมายถึงเหตุ ปัจจัย ที่มา ที่เกิดขึ้นของกรรมต่างๆ มีข้อความว่า
ข้อว่า โลโภนิทานํ กมฺมามํ สมุทญาย ความว่า สภาวะคือความโลภ ความอยากได้ ชื่อว่า โลภะ เป็นนิทาน คือ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ย่อมมีเพื่อทำให้กลุ่มแห่งการเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปในวัฏฏะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมทุกอย่าง ทุกประเภท มีโลภะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ลองพิจารณาดูแต่ละกรรมๆ ปัจจัยที่ลึก ปัจจัยดั้งเดิม ปัจจัยแท้ๆ ของแต่ละกรรมนั้นก็คือโลภะ ความอยากได้ย่อมมี เพื่อทำให้เป็นกลุ่มแห่งการเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะกรรมเดียว กรรมทุกกรรมที่ได้เกิดแล้ว ที่กำลังเกิดอยู่ และที่จะเกิดต่อไป ย่อมมีโลภะเป็นเหตุที่ทำให้สัตว์เป็นไปในวัฏฏะ
บทว่า โลภปักกตํ ความว่า อันความโลภกระทำทั่วแล้ว
พิจารณาจริงๆ ก็เห็นจริงๆ ว่า ไม่มีขณะใดเลยที่ปราศจากโลภะ รับประทานอาหาร แสวงหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทำงานทุกอย่าง เลี้ยงชีพทุกอย่าง กระทำกิจในบ้านทุกอย่าง ก็เพราะเหตุว่าอันความโลภกระทำทั่วแล้ว ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา
อธิบายว่า กรรมอันบุคคลผู้อันความโลภครอบงำแล้ว คือ อันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ
ถ้าพิจารณาจริงๆ ถึงเหตุแท้ๆ ของกรรมทั้งหลาย ก็คืออันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ
ความโลภเป็นเหตุเกิดขึ้นของกรรมนั้น เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า มีโลภะเป็นเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยชื่อว่า สมุทัย อธิบายว่า กรรมมีความโลภเป็นปัจจัย ดังนี้
ข้อว่า ยัตทัสสะ อัตตภาโว นิจภัตตติ (?) ความว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น
ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย
และข้อความที่ว่า
อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น
นี่คือตัวท่าน ขอให้นึกข้อความที่ว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด เกิดแล้วในชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น มีรูปขันธ์เกิดสืบต่อมาจากปฏิสนธิ แล้วก็มีเวทนาขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ เป็นประจำ มีสัญญาขันธ์สภาพที่จำสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ มีสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในสิ่งที่ต่างๆ ที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นเมื่อขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น
ถ้าไม่มีขันธ์ทั้งหลาย กรรมทั้งหลายก็ให้ผลไม่ได้ แต่เหตุว่าเมื่อมีขันธ์ทั้งหลาย กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น
และข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา จตุกนิบาต จตุถปัณณาสก์ วรรคที่ ๓ เจตนาสูตร ข้อ ๑๗๑ มีข้อความว่า
ก็กรรมท่านกล่าวว่า เขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก
ถ้าไม่มีกรรมเป็นเขตแดน วิบากก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นกรรมท่านกล่าวว่าเขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก
ใครจะได้รับผลของกุศลกรรมมากน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต ซึ่งจะเป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบากของกรรมนั้นๆ
ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างประณีต อย่างดี อย่างมาก เขตของกุศลวิบากก็มาก แต่ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนๆ เขตของกุศลวิบากก็น้อย เพราะฉะนั้นบางคนก็เกิดมามีสุขน้อยกว่าทุกข์ เพราะว่าย่อมแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต คือ เป็นแดนงอกขึ้นของวิบาก