วิถีจิตแรกของทุกภพเป็นทางมโนทวาร
ข้อความในอภิธรรมมัตถวิภาวินีฎีกา อธิบายปริจเฉทที่ ๔แสดงว่า เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แล้วภวังคจิตเกิดดับสืบต่อหลายขณะแล้ว วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ซึ่งมีโลภมูลจิตเป็นชวนะต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต
สำหรับชวนวิถีแรกเป็นมโนทวารวิถี ซึ่งมโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เป็นวิถีจิต กระแสของภวังค์ก็จะเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แต่เวลาที่จิตจะเปลี่ยนอารมณ์ หมายความว่ารู้อารมณ์อื่นต่างจากภวังค์ ภวังค์จะเป็นภวังคจลนะ คือ เริ่มไหวที่จะเปลี่ยนอารมณ์ หรือรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ภวังคจละนะเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วดับไป เป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ให้ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น ภวังคุปัจเฉทะคือ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วที่จะยับยั้งให้จิตดวงต่อไป ไม่เป็นวิถีจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวารมโนทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ
ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ เป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งสำหรับการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า“วิสยปวัตติ”
วิสย เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่าอารมณ์จะใช้คำว่าอารัมมณะ หรือวิสย หรือโคจร ก็ได้
โคจรรูป คงจะเคยได้ทราบมาแล้วว่า หมายความถึงรูปที่เป็นอารมณ์ ๗ รูปคือ ทางตา ๑ รูป ทางหู ๑ รูป ทางจมูก ๑ รูป ทางลิ้น๑ รูป ทางกาย๓ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน ธาตุลม ลักษณะที่ตึงหรือไหว
เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นไป โดยการรู้อารมณ์ตามทวารเป็นวิสยปวัตตินั้น สำหรับทางปัญจทวารแสดงไว้ว่ามี ๔ วาระที่ต่างกัน คือ บางขณะที่รู้อารมณ์ทางตา วิถีจิตเกิดมาก ตั้งแต่อาวัชชนวิถี
ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณเกิดต่อ เป็นวิถีที่ ๒ต่อจากนั้นก็เป็นสัมปฏิจฉนจิตวิถีที่ ๓สันตีรณจิตเป็นวิถีที่ ๔โวฏฐัพพนจิตเป็นวิถีที่ ๕ชวนจิตเป็นวิถีที่ ๖และตทาลัมพนจิตเป็นวิถีที่ ๗
มีวิถีจิตถึง ๗ วิถี จึงเป็นตทาลัมพนวาระ
ในขณะที่เป็นไปกับการเห็นครั้งหนึ่ง ๆท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้เป็นตทาลัมพนวาระหรือเปล่า แต่ทรงแสดงว่า ในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารครั้งหนึ่ง ๆ จะมีวิสยปวัตติ คือ ความต่างกันตามความมากน้อยของวิถีจิต ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น โดยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยนั่นเอง
ถ้าขณะใดมีการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร แต่วิถีจิตไม่ถึง ๗ วิถี คือ มีเพียงอาวัชชนวิถี และปัญจวิญญาณวิถี สัมปฏิจฉนวิถี สันตีรณวิถี โวฏฐัพพนวิถี ชวนวิถีเท่านั้น ไม่มีตทาลัมพนะ ขณะนั้นเป็นชวนวาระ
และบางครั้งวิสยปวัตติคือ การเกิดขึ้นเป็นไปรู้อารมณ์นั้นก็อาจจะมีวิถีจิตเกิดน้อยกว่านั้นอีก คือ แม้ชวนะก็ไม่เกิด มีแต่ปัญจทวาราวัชชนวิถี และปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉนะ สันตีรณ และโวฏฐัพพนะ คือ มีเพียง ๕ วิถีเท่านั้น วิสยปวัตติการเป็นไปเกิดขึ้นของจิตที่รู้อารมณ์ในขณะนั้น ก็เป็น โวฏฐัพพนวาระเพราะเหตุว่าชวนะไม่เกิด กุศลจิตอกุศลจิตไม่เกิดในขณะนั้น
และบางขณะวิสยปวัตติน้อยกว่านั้นอีก คือ มีแต่ภวังคจลนะเท่านั้นแม้ภวังคุปัจเฉทะก็ไม่มี เพราะเหตุว่าถ้าภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น จะต้องเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้วิถีจิตเกิด วิสยปวัตติที่ไม่มีวิถีจิตเกิดเลยนั้นเป็นโมฆวาระ เพราะเหตุว่ารูปที่กระทบปสาทนั้นดับไปก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นได้