อนัตตา กับ โยนิโสมนสิการ


    อ.ธีรพันธ์ มีผู้ถามว่า โยนิโสมนสิการ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอนัตตาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นอนัตตาก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นอนัตตา ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเหตุใกล้ โยนิโสมนสิการจึงเกิดได้ แต่การกล่าวว่าให้โยนิโสมนสิการ มีความหมายเช่นไร

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม ฟังส่วนเดียวคงไม่ได้ ไม่ว่าในพระไตรปิฎก หรือในคำบรรยายทั้งหมด ถ้าพูดถึงเรื่องอนัตตา ก็ทิ้งคำนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครโกรธก็ตาม หรือเห็นผิดก็ตาม หรือไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ตาม จะไปทำอย่างอื่นก็ตาม จะไปที่ไหนก็ตาม จะไปทำปฏิบัติที่อื่น ก็ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ นี่เป็นคำเตือนให้รู้ว่า จะต้องไปทำอย่างอื่นหรือเปล่า ในขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด โยนิโสมนสิการไม่เกิด ผู้นั้นก็มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่จะไปทำอย่างอื่น แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าขณะนี้มีสภาพธรรม ทำไมไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ตรงนี้ แต่จะไปทำอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นฟังก็ฟังให้ตลอด แล้วก็เข้าใจด้วยว่า ที่กล่าวอย่างนั้นเป็นคำเตือน หรือเป็นคำที่ให้ผู้นั้นได้ไตร่ตรองพิจารณาว่าควรจะเป็นอย่างไร แม้ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็อย่าทำผิด อย่าไปทางผิด อย่าเข้าใจผิด

    อ.ธีรพันธ์ เหมือนกับที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ระลึกทันที

    ท่านอาจารย์ ระลึกทันที บอกได้แต่จะระลึกหรือไม่ระลึก ไม่ใช่หมายความว่าบังคับให้ทุกคนระลึก แต่ถ้าไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ จะระลึก เมื่อไหร่ ก็ทันทีอีกแหละ อยู่ตรงไหนก็ต้องทันทีตรงนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าบังคับให้เกิดขึ้นทันที


    หมายเลข 3545
    25 ส.ค. 2567