ชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด
ชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ไปรู้อื่น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ตามสิ่งแวดล้อม ตามเหตุการณ์แต่ละขณะที่เป็นจริงในขณะนั้น ท่านผู้ฟังที่อบรมสติปัฏฐาน ระลึกถึงพระธรรมได้ในขณะนั้นจึงสงบ ถ้าขณะนั้นไม่ระลึกถึงอุเบกขาหรือเมตตาเลย ความสงบก็ไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริงๆ ประจำวัน ที่สามารถสงบได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น พอไหมคะ หรือยังต้องการสงบให้ยิ่งกว่านี้ ให้มากๆ โดยการไปทำสมาธิแล้วเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นความสงบ แต่ละเลยความสงบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งสำคัญกว่า เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ถึงถ้าไม่ระลึกถึงพระธรรมก็ย่อมเป็นอกุศล แต่เมื่อระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังได้ก็เป็นปัจจัยให้สงบขึ้น เป็นกุศลในขณะนั้น และชีวิตของแต่ละท่านตามความเป็นจริงไม่มีใครสามารถเลือกตามความพอใจได้ ทุกท่านอยากจะมีชีวิตที่ราบรื่น อยากอยู่แวดล้อมใกล้ชิดกับผู้มีกุศลจิตมากๆ ไม่อยากแวดล้อมใกล้ชิดกับผู้ที่เต็มไปด้วยอกุศลเลย แต่ว่าแต่ละท่านก็ย่อมทราบชีวิตของท่านตามความเป็นจริงดีว่าเป็นอย่างไร และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกรรม แต่ถึงแม้ว่าท่านจะอยู่ในเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม พระธรรมย่อมสามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดได้ถ้าท่านระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สามารถรู้สภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย โดยไม่ให้เลือกว่า สภาพธรรมที่ไม่ดีอย่างนี้จะไม่ระลึกรู้ จะคอยเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอื่นดีกว่านี้แล้วก็จะเจริญปัญญา ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ปัญญาจะไม่เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าลักษณะของปัญญาที่คมกล้าจริง ต้องหมายความถึงปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมใดๆ ก็ได้ที่ปรากฏ ไม่เลือก อย่างในขณะนี้สภาพธรรมเกิดปรากฏ ปัญญาสามารถรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ได้ เมื่อเป็นปัญญา แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิดก็จะต้องอบรม คือ ระลึก และศึกษาเพื่อความรู้ชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในเหตุการณ์นั้นๆ จะเป็นสภาพธรรมที่ดีหรือไม่ดีประการใดก็ตาม
เพราะฉะนั้น บางท่านยังเข้าใจเรื่องของความสงบของจิตไม่ถูกต้อง จึงพยายามที่จะเจริญสมาธิ แล้วก็เข้าใจว่า .ขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนั้นเป็นความสงบ แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลยว่า ลักษณะความสงบของจิตต้องเป็นขณะที่ปราศจากความยินดียินร้าย และต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะสภาพของความสงบที่กำลังสงบในขณะนั้นว่า ขณะนั้นไม่ใช่ความติด ไม่ใช่ความพอใจในสมาธิที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด บางท่านก็เข้าใจว่า ขอไปสู่สถานที่สงบเงียบ แล้วความสงบก็จะมั่นคงขึ้น มีแต่ความหวังว่า เมื่อไปแล้วจะสงบมั่นคงขึ้น แต่ลืมคิดว่า ความสงบจะมั่นคงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของความสงบเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน เพื่อจะเปรียบเทียบลักษณะของกุศลธรรม และอกุศลธรรมว่าต่างกัน ถ้าขณะนี้อกุศลจิตเกิดจะทำอย่างไรคะ จะให้สงบ หรือจะปล่อยไป หรือจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน
ในชีวิตประจำวัน เวลาที่ยุงกัด เคยคิดอยากจะฆ่าไหมคะ ถ้าเคยคิด ขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการเจริญความสงบ อย่ารีบร้อนที่จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็จดจ้องทำสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเป็นความสงบ แต่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่นึกอยากจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย บางท่านไม่ฆ่ายุง ก็ฆ่ามด ขณะที่กำลังจะฆ่า ขณะนั้นสงบไหมคะ นี่คือตามความเป็นจริง ถ้าท่านต้องการเจริญความสงบแล้วก็ขอให้ระลึกถึงความสงบตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีได้ก่อนจะไปถึงความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงเหลือเกิน จนกระทั่งสภาพของจิตในขณะนั้นประกอบด้วยความสงบ และสมาธิที่มั่นคงจริงๆ หยั่งจริงๆ ลงสู่ความสงบพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคง แต่ชั่วขณะเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะของความสงบ
เวลาที่ได้ยินได้ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามในชีวิตประจำวันที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แล้วเล่าสู่มิตรสหายฟัง ขณะนั้นสงบไหม ขอให้คิดถึงสภาพของจิต ถ้าจะเล่าเรื่องร้าย ขณะนั้นจิตสงบไหม ขณะที่กำลังเล่า ถ้าจะเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ร่าเริงบังเทิงใจในทางอกุศลธรรม ในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ในขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการเจริญกุศล ไม่เพียงขั้นทาน และขั้นศีล แต่ต้องการเจริญความสงบของจิตด้วย ก็ควรรู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบในชีวิตประจำวัน ถ้าในชีวิตประจำวันท่านเพิ่มความสงบขึ้น จะมีหวังที่ว่าเมื่อระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบ และอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบบ่อยๆ สมาธิจะประกอบกับความสงบนั้นมั่นคง หยั่งลงลึก และดื่มด่ำในความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิได้ แต่ลักษณะของสมาธิขั้นอุปจาระ และขั้นอัปปนาต้องต่างกับขณะที่เป็นขณิกะ คือในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านสามารถจะรู้ได้ แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้น และประกอบด้วยสมาธิขั้นใด ท่านก็สามารถรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้วตามความเป็นจริง