ปัญญาในสมถะรู้เพียงว่าจิตจะสงบอย่างไร


    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนานั้นเป็นความรู้ขั้นที่รู้ความต่างกันของอกุศลจิต และกุศลจิต ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนานั้นเห็นโทษของอกุศลจิตอย่างละเอียด แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพียงแต่รู้หนทางวิธีที่ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมในขณะนั้น มีความรู้เพียงขั้นนั้น มีความรู้เพียงว่า จิตจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ปฏิบัติด้วยความต้องการแล้วก็ไม่พอ จึงเป็นความไม่สงบ ไม่ใช่ความสงบ ถ้ารู้ลักษณะของความสงบแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความสงบ เกิดขึ้นอีกก็สงบ แล้วจะสงบมั่นคงขึ้นถ้าปราศจากความต้องการ แต่เพราะเหตุว่ามีความต้องการ มีความสงสัย ซึ่งขณะนั้นไม่สงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของความไม่สงบในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น มีความต้องการเกิดแล้ว เพราะไม่รู้ลักษณะของความสงบจริงๆ ขณะนั้นยากที่จะกล่าวว่า เป็นความสงบจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า มนสิการพิจารณาอย่างไรจิตจึงสงบ การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านที่จดจ้องที่ลมหายใจ จิตจะสงบ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต มีความต้องการจดจ้องที่ลมหายใจ ไม่ใช่ความสงบเลย ถ้าสติปัฏฐานจะต้องละความยึดถือลมหายใจว่าเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แล้วแต่อารมณ์อะไรจะปรากฏก็มีลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น นั่นเป็นสติปัฏฐาน อย่าปนกัน ความสงบของสติปัฏฐานต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ละการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน ความสงบที่เป็นสมาธิหรือสมถภาวนา ความสงบที่ลมหายใจที่เป็นสมถภาวนาต้องมีปัญญาที่รู้วิธีที่จะสงบนั้นในขณะที่รู้ลมหายใจ พิจารณาอย่างไร ระลึกอย่างไรจึงสงบ เวลาอยู่ในป่า ไม่ใช่โรงหนัง โรงละคร มีดอกไม้สวยๆ ลมพัดเย็นๆ มีแม่น้ำลำธาร มีนกร้อง รู้สึกสงบไหม สงบใช่ไหมคะ เข้าใจว่าสงบ พอใจแล้ว ไม่เหมือนเวลาที่ยุ่ง คิดมาก นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน เข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่สงบเลย ตราบใดที่มีความพอใจ จะชื่อว่าสงบไม่ได้ หลักที่จะรู้ว่า เป็นสมถภาวนาหรือไม่ใช่สมถภาวนา คือว่าขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว จะไม่เป็นสมถภาวนาแน่นอน

    นั่งอยู่ในป่า ดูพระอาทิตย์ตก ตื่นมาเช้าๆ ทุกอย่างเงียบสงบ ก็เข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงไม่ใช่ โลภะก็ได้ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าเพิ่งรวบรัดว่าเป็นความสงบแล้วเจริญไปๆ ก็ปัญญาไม่เห็นเกิดขึ้นเลย ความสงบจะเพิ่มกำลังขึ้นได้อย่างไร ถ้าปราศจากปัญญา ที่ความสงบจะสงบขึ้น มั่นคงขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญาจึงจะเพิ่มความสงบขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากปัญญาแล้วไปนั่งจดจ้องอยู่สักเท่าไรก็หาสงบไม่ แต่ก็เข้าใจว่าสงบ แต่วิธีที่จะรู้สงบหรือไม่สงบ ก็คือขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาในขณะนั้นรู้อะไร ถ้าเจริญความสงบ ความสงบก็สงบขึ้น เท่านั้นเอง แต่เมื่อไม่สงบขึ้น แล้วมีความพอใจเกิดขึ้น มีความต้องการเกิดขึ้น มีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย มีความไม่รู้หนทาง มีความต้องการให้สงบขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ และไม่ใช่หนทางที่จะสงบขึ้น เพราะไม่ได้เริ่มจากความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา ลักษณะของสมาธิไม่ใช่ลักษณะของความสงบ .เอกัคคตาเจตสิกเป็นจิตที่เกิดกับอกุศลได้ ตั้งมั่นคงด้วยอกุศลก็ได้ ไม่ใช่ความสงบ

    เพราะฉะนั้น อย่าปนสภาพของความสงบกับลักษณะของสมาธิซึ่งมีทั้งมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลสมาธิได้

    เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า ตั้งมั่นแล้ว จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้ว นั่นกล่าวถึงเพียงลักษณะของสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงลักษณะของความสงบเลย แล้วก็เอาสมาธิมาเป็นเครื่องวัด ซึ่งสมาธิเกิดกับอกุศลจิตได้ เป็นโลภมูลจิตได้ แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นพร้อมทั้งความสงบ และสมาธิ ขณะนั้นจึงเป็นความสงบ

    การอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกุศลที่ไม่ใช่ขั้นทาน และขั้นศีล และต้องประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ถ้าไม่กล่าวถึงการเจริญสมถภาวนา ท่านผู้ฟังก็จะรู้สึกได้ว่า ท่านเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของอกุศลจิต เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง แต่ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล เช่น เมตตา แล้วรู้ลักษณะของความสงบซึ่งต่างกับลักษณะของโทสะ แล้วเมตตาจะเกิดบ่อยขึ้น หรือกรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม สภาพธรรมที่เป็นกุศลปรากฏตามความเป็นจริง ให้ระลึกเนืองๆ เมื่อระลึกเนืองๆ จิตสงบขึ้นไหม

    เพราะฉะนั้น ความสงบต้องเกิดพร้อมปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เวลานี้ลมหายใจปรากฏแล้วสงบไหม นี่คือขั้นต้น เหมือนเวลาเห็นคนหนึ่งคนใดจิตสงบไหม ถ้าจะเจริญความสงบก็ต้องในขณะที่กำลังจะฆ่าสัตว์ ฆ่ายุง ฆ่ามด ไม่สงบ ขณะที่ไม่ฆ่าสงบ สีลานุสติ จาคานุสติ มรณสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ อารมณ์ที่จะจิตสงบมี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะเป็นความสงบขึ้นมาด้วยโลภะ ด้วยความต้องการหรือความจดจ้อง โดยปัญญาไม่เกิดเลย ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ความสงบที่ลมหายใจเดี๋ยวนี้ที่กำลังรู้มีความสงบ หรือมีเพียงความจดจ้อง ขณะนี้สงบได้ไหม เท่านี้ก่อน ถ้าสงบได้เพราะอะไร เพราะระลึกที่ลมหายใจหรือเพราะเหตุอื่น

    ผู้ฟัง เพราะอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ล่ะคะ ต้องตัวเอง ถ้าขณะนี้รู้ว่า ขณะนี้ไม่สงบ รู้ในอาการที่ไม่สงบชองจิตด้วย และจิตจะสงบได้เพราะอะไร ที่จะต้องถามตัวเอง ถ้าเกิดความสงบขึ้นเดี๋ยวนี้เพราะอะไร นี่เป็นปัญญาที่รู้ว่า สงบเพราะอะไร ลมหายใจมี ระลึกที่ลมหายใจ แล้วสงบ หรือเพราะอย่างอื่นจึงสงบ ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ถ้าลักษณะที่สงบก็ต้องมีเหตุว่าสงบเพราะอะไร สงบเพราะระลึกอย่างไร

    เรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่าขั้นทาน และขั้นศีลแน่นอน แม้แต่ทาน บางท่านก็ยังสงสัยว่า นี่เป็นทานหรือเปล่า อย่างการให้ ท่านก็ยังงงว่า ให้อย่างนี้จะเป็นทานไหม คือ ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล ที่มีเจตนาสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น เพราะเพียงดูอาการภายนอกของการหยิบ ยก ยื่น สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่บุคคลใด อาจจะเพื่อหวังผล หรือเป็นการแลกเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนาให้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญความสงบเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่า เป็นกุศลที่ควรเจริญ เพราะรู้โทษของอกุศลซึ่งเป็นไปอย่างละเอียดยิ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำ นั่งเฉยๆ แต่คิดนึกเป็นอกุศลแล้ว เมื่อเห็นโทษของอกุศลซึ่งเป็นไปทุกขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ได้ลิ้มรสต่างๆ บ้าง ได้กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ บ้าง แล้วก็รู้ว่า การที่จะให้อกุศลเหล่านั้นเกิดไม่เป็นประโยชน์ ควรที่กุศลจิตจะเกิด แต่ทำอย่างไรกุศลจึงจะเกิด นี่เป็นปัญหาแล้ว ทุกคนอยากมีกุศลจิต เพราะรู้ว่า อกุศลจิตวันหนึ่งๆ มากเหลือเกิน แต่ทำอย่างไรถึงจะพ้น หรือมีกุศลจิตเกิดแทนอกุศล ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้หนทาง ขณะนั้นก็ยาก ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น จิตที่เป็นกุศลก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเจริญให้เพิ่มพูนขึ้นโดยปราศจากปัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย


    หมายเลข 3548
    3 ส.ค. 2567