คำว่า จดจ้อง กินความหมายกว้างแคบแค่ไหน
พระคุณเจ้า อาตมามีความสงสัยคำหนึ่งที่อาจารย์ได้บรรยาย คือคำว่า “จดจ้อง” อาจารย์บอกว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่จดจ้องในการกำหนดนามหรือรูปอันใดอันหนึ่ง ให้ไปทำตามธรรมชาติ สมมติว่าเราฟังธรรม ถ้าสติไม่จดจ้องในเสียงที่บรรยาย เราจะไม่รู้ทั่วถึงธรรมนั้น หมายความว่า เราก็เอาสติไปกำหนดรูปอื่นนามอื่น ไม่กำหนดเสียงที่บรรยาย อันนี้คำว่า จดจ้อง กินความหมายกว้างแคบแค่ไหน
ท่านอาจารย์ เวลาที่กำลังฟังก็รู้เรื่องด้วยเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นถึงบัดนี้ แต่ว่าสติที่เป็นสติปัฏฐานก็สามารถเกิดระลึกขึ้นได้บ้างขณะ อาจจะระลึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางหู รู้ว่า ที่กำลังรู้เรื่องก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็ได้ยินต่อไป รู้เรื่องต่อไปตามปกติ ไม่ใช่ผิดปกติเลย และไม่ใช่บังคับว่า ไม่ให้สติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้เรื่อง หรือว่าไม่ใช่ให้จดจ้องว่า ต้องมีสติทุกๆ คำพูด ทุกๆ ขณะที่ได้ยิน ทุกๆ ขณะที่รู้เรื่อง ไม่ใช่มีตัวตนไปบังคับอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ฟังเรื่องให้เกิดวิริยะ ความเพียร เพราะเหตุว่าชีวิตนี้ไม่มีใครทราบว่า จะยาว จะสั้น จะมากน้อยแค่ไหน ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรขณะไหนได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่มีค่าที่สุดก็คือสติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูป บ่อยๆ เนืองๆ ทุกๆ ขณะ สะสมเจริญให้มากขึ้น นี่เป็นวิริยกถา
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องการเจริญความเพียร ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้มากน้อยแล้วแต่โอกาส แต่ไม่ใช่มีตัวตนต้องการที่จะจดจ้อง ที่จะให้เกิดเรื่อยๆ ติดต่อกัน หรือที่จะยับยั้งไม่ให้เกิด
เพราะฉะนั้น ที่บางท่านเข้าใจว่า ถ้าไม่ตั้งใจฟังก็ไม่รู้เรื่อง เวลานี้ทุกท่านก็ฟังมาแล้วก็คงจะรู้เรื่อง แต่ถ้าสติไม่เกิด รู้เรื่องนั้นก็เป็นตัวตน ฟังรู้เรื่อง แต่เป็นตัวตนที่รู้เรื่อง แต่ถ้าสติระลึกได้ ก็รู้ว่า ที่รู้เรื่องนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมดแล้ว ไม่ห่วงใย ไม่กังวล สติก็ระลึกรู้นาม และรูปใหม่ที่กำลังปรากฏ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ ขณะ ไม่พะวงถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว นามรู้เรื่องก็หมดไปแล้ว และขณะที่กำลังรู้เรื่อง ถ้าระลึกได้บ่อยๆ ก็จะทราบว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะไม่มีอะไรไปขัดขวาง ไปทำความกังวลแม้ในขณะที่รู้เรื่อง แต่ตรงกันข้ามถ้าคิดว่า ขณะที่รู้เรื่องไม่ใช่สติปัฏฐาน จะมีกังวลติดข้องไม่กล้าจะให้สติเกิดขึ้น แล้วการยึดถือการรู้เรื่องว่าเป็นตัวตนก็ยังมีตลอดไปเรื่อยๆ เพราะสติไม่เคยระลึกได้แม้ชั่วครั้งชั่วคราว กว่าจะรู้ชัดว่าเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปนั้น การระลึกได้ก็ต้องมีบ่อยขึ้น มากขึ้น แต่ไม่ใช่ต้องติดต่อกันตลอดเวลา ถ้าติดต่อกันตลอดเวลา ก็เป็นการจงใจที่จะให้เฉพาะได้ยินแล้วไม่รู้เรื่อง นั่นเป็นการบังคับวิถีจิต เป็นอัตตาที่บังคับไว้ แต่รู้เรื่องก็หมดไปแล้ว เวลาเห็นกำลังมี สติก็ระลึกถึงนามรูปที่ปรากฏต่อไปได้
ข้อสำคัญก็คือว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่าง ไม่เว้น เพราะฉะนั้น ระลึกบ้าง ขณะที่รู้เรื่องก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ควรจะรู้ ที่ว่าจดจ้องหรือจงใจนั้นก็เพราะเข้าใจผิด คิดว่า เฉพาะนามนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน รูปนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจผิดอย่างนี้ก็จะมีความหวั่นไหว ไม่พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะมีตัวตนที่หันกลับมาพิจารณาเฉพาะรูปนั้นนามนั้นที่คิดว่าเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น เป็นการจำกัดปัญญา ไม่ใช่เป็นการละคลาย เพราะว่ารู้มากขึ้น
ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ฟังธรรมแล้วสงเคราะห์ธรรม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ โดยการฟังทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอัตตา นามที่รู้เรื่องก็เป็นของจริง ขณะใดที่รู้เรื่อง ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน โดยการฟัง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โดยการปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายก็ต้องเป็นอนัตตา แต่สติระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ที่ยังไม่เคยระลึก ก็เพิ่มการระลึก แล้วก็รู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็หลงเหลือนามนั้นเป็นอัตตา รูปนี้เป็นอัตตา ขณะนั้นเป็นอัตตา ขณะนี้เป็นอัตตา ก็จะไม่แทงตลอดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าเป็นในลักษณะนี้แล้ว ปริยัติกับปฏิบัติ ปฏิเวธก็ไม่ตรงกัน ขณะที่กำลังฟังดูเรื่องก็ระลึกได้ว่า เป็นเพียงนามชนิดหนึ่งที่รู้ สภาพรู้เรื่องก็เหมือนสภาพที่คิดนึก เป็นมโนทวาร หรือเป็นนามทางใจ ไม่ใช่เห็นสี ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ได้ดมกลิ่น แต่เป็นสภาพที่รู้เรื่องราวต่างๆ เป็นสภาพที่รู้ความหมายต่างๆ เวลานี้ก็เป็นสภาพที่คิดไป รู้ไปในเรื่องต่างๆ ก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น
เวลาฝัน ตื่นขึ้น ขณะนั้นถ้ามีสติก็รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพที่คิดเท่านั้น แต่ความคิดของบางคนแม้ในขณะที่ไม่ใช่ฝัน ก็ปรากฏเป็นรูปร่างได้ ก็แล้วแต่จะคิดมากน้อยชัดเจนถึงรูปร่างลักษณะหรือเปล่า แต่ว่าสภาพที่คิด ฝันไปนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่อ่านหนังสือ การเห็นก็เป็นนามธรรม ถ้าไม่ระลึกในขณะนั้น เมื่อไรจะทราบว่า การเห็นก็เป็นเพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น เห็นอะไร ขณะไหน เห็นตัวหนังสือ เห็นคน เห็นอะไร ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น ขณะที่รู้ความหมายก็คือการนึกไปแต่ละคำ เท่านั้นเอง ก็เป็นสภาพที่ตรึกหรือนึกไป การรู้เรื่อง รู้ความหมายของหนังสือก็คือนึกตามไป รู้ไปทีละขณะ ก็เป็นนามธรรม รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้น สภาพที่กำลังรู้ กำลังนึก กำลังคิดนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าระลึกอย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ ความเป็นอนัตตาของนามรูปทั้งหลายก็จะปรากฏมากขึ้น ไม่มีอะไรไปกั้นปัญญาไว้ได้ มิฉะนั้นแล้วความเป็นตัวตนก็จะเหลืออยู่มากในวันหนึ่งๆ และตามปกติก็เป็นผู้หลงลืมสติกันมาก แล้วยิ่งเข้าใจว่า เฉพาะนามนั้นรูปนั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ในขณะอื่นก็เลยไม่มีสติ สติไม่สามารถระลึกได้ แต่ความจริงทุกอย่างที่ปรากฏให้รู้ได้ เป็นเครื่องระลึก เป็นสติปัฏฐานได้ทั้งสิ้น