สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี
สติเป็นธรรมที่เกิดกับจิต ธรรมที่เกิดกับจิตใช้คำว่า “เจตสิก” เกิดในจิต เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท สติเป็น ๑ ใน ๕๒ ๑ ในสังขารขันธ์ เพราะเราจะรู้คำว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ เวทนาคือความรู้สึกเป็นเจตสิกชนิด ๑ ใน ๕๒ เป็นเวทนาขันธ์สัญญาสภาพที่จำก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่งในเจตสิก ๕๒
เพราะฉะนั้น เวทนา ๑สัญญา ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์อีก ๕๐ เจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจลักษณะของสติ ก็คือว่าไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิตไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา แต่เป็นสภาพธรรมที่มี แล้วก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีด้วย สติจะไม่เกิดกับโลภะ โทสะ โมหะ จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติจะเกิดพร้อมกับอวิชชาไม่ได้ จะเกิดพร้อมกับโลภะไม่ได้ จะเกิดพร้อมกับโทสะไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆศึกษาทราบว่า กุศลจิตทุกประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลประเภทนั้นๆ อย่างทาน ก็ต้องมีสติเกิดเป็นไปในการที่จะให้วัตถุที่จะเป็นประโยชน์กับบุคลอื่น จึงไม่ใช่เรา
การศึกษาธรรมการฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา จริงๆแล้วทุกขณะเป็นธรรม ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรืออยู่ที่นี่ก็คือธรรมทั้งหมด ต้องมีความเข้าใจถูก แต่เราจะรู้ธรรมได้อย่างไร ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นประการที่สำคัญที่สุดคือ ธรรมนี้ใครแสดง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม จึงสมควรที่จะฟัง เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ก็คือเดี๋ยวนี้มีธรรม ถ้าเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรม ก็คือว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง ไม่มีใครนำไป สภาพธรรมเกิดแล้ว ดับแล้วอย่างรวดเร็ว