วจีกรรม ๔


    วจีกรรม ๔ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางแห่งราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใด จงพูดสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ ๑

    ข้อต่อไปคือ

    เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน ๑

    นี่คือเรื่องของวาจา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความวิจิตรมาก ในเรื่องของวาจาที่ไม่จริง เป็นคำพูดเท็จก็อย่างหนึ่ง คือเรื่องไม่จริงเลยก็กล่าวได้ นั่นเป็นเพราะอกุศลจิต ซึ่งไม่เห็นโทษของวจีกรรม แต่ทางวาจา ไม่ได้มีแต่เพียงการพูดเท็จ ยังมีการพูดส่อเสียดเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือเพื่อทำลายคนหมู่โน้น หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน

    ไม่น่าสนุกเลยที่จะเห็นคนแตกแยกความสามัคคี แต่ผู้ที่มีอกุศลจิต ก็ยังพอใจที่จะเห็นความแตกแยก จนกระทั่งยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน แล้วก็เพลิดเพลินในความแยกกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นการสะสมของอกุศลซึ่งสามารถจะกระทำอกุศลกรรมได้ทั้งทางกาย และทางวาจา

    นอกจากนั้นสำหรับวจีกรรมที่ควรจะพิจารณา คือ

    เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิหรือความสงบของจิต ๑

    นี่คือวจีกรรมที่ ๓ ไม่เป็นวาจาที่ดีเลยสักอย่างเดียว เรื่องเท็จ เรื่องส่อเสียด หรือเรื่องคำหยาบ คือ วาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิคือความสงบของจิต

    ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อาจจะไม่สังเกตวาจาในขณะนั้นว่า หยาบคายหรือว่ากล้าแข็ง หรือว่าเดือดร้อนต่อผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น หรือใกล้ต่อความโกรธ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ

    วจีกรรมประการที่ ๔ คือ

    เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรมไม่อิงวินัย กล่าววาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันไม่ควร ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ


    หมายเลข 3588
    2 ส.ค. 2567